การที่คนเรามีอายุมากนั้น ร่างกายก็เสื่อมลงไป นอกจากนี้แล้วโรคต่างๆ ก็มักจะเข้ามาถามหา ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ แต่โรคที่คร่าชีวิตผู้สูงอายุเป็นอันดับต้นๆคงจะต้องมีโรคหัวใจรวมอยู่ด้วยแน่นอน สิ่งที่ดีที่สุดจะช่วยให้ผู้สูงอายุห่างไกลจากโรคหัวใจก็คือความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคหัวใจตลอดจนการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี
โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจในผู้สูงอายุมีสาเหตุจาก
1. หลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งทำให้เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบตัน และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดแดงใหญ่เออออร์ติกโป่งพอง (Aortic Aneurysm)
2. โรคความดันโลหิตสูง ในคนที่อายุเกิน 65 ปี อาจพบว่าความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มม.ปรอทถึง 50%
3. การทำงานของหัวใจล้มเหลว (Congestive heart farilure) ซึ่งมีสาเหตุหลายอย่างทำให้เกิดอาการเหนื่อยง่าย
4.โรคลิ้นของหัวใจตีบหรือรั่ว โดยเฉพาะหัวใจเออออร์ติก เนื่องจากมีการเสื่อมของลิ้นหัวใจ และมีแคลเซียมมาจับ
5.โรคหัวใจเนื่องจากการเต้นที่ผิดจังหวะทำให้มีอาการใจสั่น เป็นลม หมดสติ
6.พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป คือนิยมบริดภคไขมันและเนื้อสัตว์มากขึ้น รวมไปถึงอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด ซึ่งอาหารดังกล่าวอุดมไปด้วยไขมันที่อิ่มตัวและมีคอเลสเตอรอลสูงทำให้ร่างกายสะสมไขมันและคอเรสเตอรอลไว้ในหลอดเลือดจำนวนมากกระทั่งมีความหนาตัวมาก และไปเกาะบริเวณหลอดเลือดจนมากพอที่จะทำให้เส้นเลือดตีบตันจนหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
7.การสูบบุหรี่
8.ความเครียด
9.โรคอ้วน
คนไข้บางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆเลย เช่นโรคความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการผิดปกติเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ในคนไข้ที่กล้ามเนื้อหัวใจทำงานลดลงไม่มากอาจไม่มีอาการเหนื่อย เนื่องจากคนสูงอายุไม่ได้ทำงานหนัก
การตรวจหัวใจเพื่อหาความผิดปกติในการทำงานของหัวใจหรือหาอาการของโรคหัวใจนั้นมีความจำเป็น ซึ่งการตรวจพื้นฐานจะประกอบด้วย
1. การตรวจร่างกายระบบหัวใจและการวัดความดันโลหิต
2. การตรวจเลือดดูภาวะไขมันในเลือดและเบาหวาน
3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardio graphy : E.K.G.)
4. เอ็กซเรย์ปอดเพื่อดูขนาดหัวใจ
สำหรับคนที่สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจควรได้รับการตรวจพิเศษได้ ดังนี้
1. การวิ่งทดสอบสมรรถภาพหัวใจ (Exercise Stress Test) เป็นการตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายโดยการเดิน-วิ่ง บนสายพาน(หรือลู่) เพื่อดูการทำงานของหัวใจและดูว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือไม่มีเวลาออกกำลังกาย นอกจากนั้นยังใช้ตรวจสอบความแข็งแรงของร่างกาย
2.การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) จะสามารถดูขนาดของหัวใจ ความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจทั้ง 4 ลิ้นว่ามีลิ้นตีบรั่วหรือไม่ ดูการบีบตัวของหัวใจ
3.การบันทึกการเต้นหัวใจ 24 ชั่วโมง(24 hours holter monitoring) ในกรณีที่สงสัยหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือสงสัยว่าอาการเป็นลมหมดสติเกิดจากหัวใจเต้นช้ามาก นอกจากนี้ยังสามารถดูการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจระหว่างที่ติดเครื่องไว้
การตรวจแต่ละวิธีนั้นมีข้อดี และยังจำกัดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหัวใจ การรักษาทางการแพทย์อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วย แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุอยู่กับเราไปนานๆ และมีความสุขก็คือความรักที่ลูกหลานมอบให้แก่ท่าน โดยไม่ทอดทิ้ง ไม่ปล่อยให้ท่านอยู่โดดเดี่ยวลำพัง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ท่านมีกำลังใจต่อสู้กับโรคร้ายต่อไปและมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข