ปวดท้อง ใช่แค่โรคกระเพาะอาหารหรือ ?
หลายท่านคงเคยมีอาการปวดท้องกันมาบ้างแล้ว บางท่านซื้อยารักษาโรคกระเพาะอาหารมาทานเอง บางท่านไปพบแพทย์ก็อาจได้ยารักษาโรคกระเพาะอาหารบ้างก็ดีขึ้น บ้างก็ยังไม่ทุเลา ท่านอาจสงสัยว่า ท่านปวดท้องจากสาเหตุใดโดยทั่วไปพบว่า อาการปวดท้องเป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์มากถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่มาพบแพทย์ และพบความชุกของอาการปวดท้อง 20-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาการที่พบบ่อยในคนทั่วไปในประเทศไทย ชมรมโรคกระเพาะอาหารแห่งประเทศไทยได้มีการทำการศึกษาสาเหตุของผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง พบว่า 77 เปอร์เซ็นต์เกิดจากภาวะปวดจุกแน่นท้องจากภาวะไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร 20 เปอร์เซ็นต์ที่พบว่ามีแผลที่กระเพาะอาหารนั้น พบว่าเป็น “มะเร็ง” ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ พิจารณาโดยรวมแล้วส่วนใหญ่มักไม่ใช่สาเหตุที่รุนแรง มีประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่เป็นสาเหตุที่ต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
อาการปวดท้องอย่างไร ? ที่ไม่ธรรมดา
หากมีอาการปวดท้องและมีอาการดังต่อไปนี้ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาหาสาเหตุของอาการปวดท้อง
มีอาการปวดท้องเกิดขึ้นหลังอายุ 40 ปี
ปวดท้องมากจนต้องตื่นขึ้นมา
น้ำหนักลด
มีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร อาทิ ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
อาเจียนตลอดไม่ทุเลา
กลืนลำบาก
มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
ซีด
ตัวเหลือง ตาเหลือง
มีไข้
คลำพบก้อนในท้อง
ท้องโตมาก
มีการขับถ่ายอุจจาระผิดปกติ
อาการต่างๆ ข้างต้น มักเป็นอาการเตือนถึงภาวะโรคที่อันตราย ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที
แพทย์มีแนวทางการวินิจฉัยอย่างไร ?
การตรวจวินิจฉัยขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ได้แก่
การตรวจเลือด
การทำอัลตร้าซาวด์
การตรวจส่องกล้องในทางเดินอาหารส่วนบน (Gastroscopy)
ปวดท้องอย่างไรที่อาจดูแลตนเองได้ ?
เป็นอาการปวดท้องที่ไม่รุนแรง อาทิ อาการปวดท้องโดยไม่มีอาการ เหงื่อแตก หรือหน้ามืดจะเป็นลม เป็นต้น รวมทั้งไม่มีอาการเตือนดังได้กล่าวไว้ข้างต้น ท่านอาจจะดูแลเบื้องต้นเองได้ เช่น ถ้าท่านมีอาการจุกเสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ อาจรับประทานยาธาตุน้ำขาว หรือยาขับลม รวมทั้งควรงดอาหารรสจัด เช่น อาหารรสเผ็ด น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ และกาแฟ เป็นต้น แต่ถ้าท่านมีอาการปวดหน่วงบิดท้องด้านล่างซึ่งต้องระวังเพราะอาการนี้อาจเป็นไส้ติ่งอักเสบได้ โดยอาการที่อาจสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ มักจะปวดตลอดและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะปวดมากขึ้นได้ถ้ามีการสะเทือน มักปวดบริเวณท้องด้านขวาล่าง ข้อสำคัญในการดูแลตนเองนั้นก็คือ เมื่อใดก็ตามที่ท่านได้ดูแลเบื้องต้นกับอาการปวดท้องแล้วยังไม่หายสนิท เป็นเรื้อรัง หรืออาการเป็นรุนแรงมากขึ้น ท่านควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรึกษาและหาสาเหตุของอาการปวดท้อง