โรคหอบหืดในเด็กพบมากขึ้นในปัจจุบัน อาการของโรคเกิดจากหลอดลมมีความไวกว่าปกติและตีบง่าย ทำให้เหนื่อยหอบและหายใจสำบาก จากการศึกษาพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทำให้ผลการรักษาไม่ดี ผู้ป่วยมีอาการกำเริบบ่อย ทำให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือมารักษาห้องฉุกเฉินบ่อยทำให้ต้องขาดเรียนและไม่สามารถทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป มีผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างมาก
การรักษาโรคหอบหืดในเด็กจะได้ผลดี ต้องอาศัยการประเมินอย่างละเอียดโดยแพทย์และอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก โดยมีแนวทาง ดังนี้
1. ประเมินความรุนแรงของโรคหอบหืด เพื่อพิจารณาว่าจะต้องได้รับยาพ่นเป็นประจำเพื่อควบคุมอาการหรือไม่
2. ผู้ป่วยทุกรายควรมียาพ่นขยายหลอดลมไว้ที่บ้าน เพื่อใช้บรรเทาอาการเวลามีอาการหอบกำเริบ
3. ในรายที่ต้องได้รับยาควบคุมอาการ ต้องเลือกใช้ยาพ่นสูดในรูปแบบที่เหมาะสม
4. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และสารระคายเคือง
5. ติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
แม้ว่าโรคหอบหืดจะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ปัจจุบันมีพัฒนาการของยาที่ใช้มากขึ้นทำให้สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ ดังนั้น หากบุตรหลานท่านใดเป็นโรคหอบหืดหรือสงสัยจะเป็นควรมาพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี
จะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กที่เป็นภูมิแพ้ แพ้อะไรบ้าง?
เด็กที่เป็นภูมิแพ้อาการจะกำเริบเมื่อสัมผัสกับสารก่อภูมิชนิดที่ตนเองแพ้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่แพ้ไรฝุ่นถ้าอยู่ที่มีไรฝุ่น อาการจะกำเริบได้ ในขณะที่คนเป็นภูมิแพ้ที่ไม่ใช่แพ้ไรฝุ่นอยู่ในห้องเดียวกันจะไม่มีอาการ ดังนั้นการทราบว่าเด็กที่เป็นภูมิแพ้อะไรจึงมีความสำคัญทำให้ผู้ปกครองจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านอย่างไรเพื่อหลีเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ที่ตนเองแพ้
การทดสอบง่ายๆ ที่ใช้ในการประเมินว่าเด็กแพ้อะไร คือ การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยการสะกิด (Skin prick test) โดยหยดน้ำยาทดสอบซึ่งสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย เช่น ไรฝุ่น สุนัข แมว แมลงสาบ ทาบนผิวหนังแล้วใช้ปลายเข็มสะกิดตื้นๆ รอผล 15 นาที ก็จะทราบว่าแพ้อะไรบ้าง
โดยสถิติแล้ว สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้มากที่สุด คือ ไรฝุ่น และแมลงสาบ
โรคแพ้อากาศ
โรคแพ้อากาศหรือเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้เป็นโรคที่พบได้บ่อย ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่ก็เป็นโรคที่มีอาการเรื้อรังและมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ได้มารับการรักษาหรือรักษาแต่ไม่ต่อเนื่องเพราะคิดว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและผู้ป่วยมักจะชินกับอาการ แต่ในความเป็นจริงแล้วหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น ไซนัสอักเสบ หอบหืด และอาจมีผลต่อคุณภาพการนอนและประสิทธิภาพในการเรียน
ความรุนแรงของโรคจำแนกได้ตามความรุนแรงน้อย และรุนแรงปานกลาง –มาก อาการซึ่งถือมีความรุนแรงปานกลาง-มากมีข้อสังเกต ดังต่อไปนี้
1. การนอนหลับผิดปกติ
2. การเจ็บป่วยรบกวนกิจกรรมระหว่างวัน
3. ขาดงานหรือขาดเรียน
4. สร้างความรำคาญหรือเดือดร้อน
แนวทางการรักษาประกอบด้วยการปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านเพื่อลดการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และการใช้ยา ยาที่ใช้ได้แก่ยารับประทานกลุ่มยาฮิสตามีน จึงควรเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์ยาวและไม่ง่วง และยากลุ่มสเตียรอยด์พ่นจมูกมีประสิทธิภาพสูงในการรักษา