บางคนอาจคิดว่าโรควัณโรคเป็นเรื่องไกลตัว แต่รู้หรือไม่ว่าวัณโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกวัย โดยปัจจุบันพบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ (วัณโรคปอดระยะแพร่เชื้อ) ถึงปีละ 100,000 คน และมีผู้เสียชีวิตด้วยวัณโรค มากกว่า 30 คนต่อวัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศทั่วโลกที่มีภาระด้านวัณโรคสูงสุด
คุณอาจเป็น 1 ในผู้ป่วยวัณโรคระยะแฝง
ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อวัณโรค คือผู้ที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีสุขภาพไม่แข็งแรง เราพบว่าประมาณ 1 ใน 3 ของคนไทยมีเชื้อวัณโรคซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ในร่างกาย เรียกว่า “การติดเชื้อในระยะแฝง” ผู้ที่ติดเชื้อในระยะนี้จะยังไม่มีอาการและไม่แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น แต่เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอไม่สามารถกำจัดหรือควบคุมเชื้อได้ เชื้อวัณโรคก็จะแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จากการเป็นผู้ติดเชื้อวัณโรคในระยะแฝงก็จะกลายเป็น ผู้ป่วยวัณโรคได้
อาการสงสัยเป็นวัณโรคปอด ควรพบแพทย์
• ไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์
• ไอมีเสมหะปนเลือด
• มีไข้เรื้อรัง
• เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
• เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน
การตรวจวินิจฉัย
• บุคคลที่มีความเสี่ยง เช่น อยู่ร่วมบ้านหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ตรวจร่างกาย เอกซเรย์ทรวงอกร่วมกับการตรวจโรคระยะแฝง มี 2 วิธี คือ ทดสอบการติดเชื้อทางผิวหนัง และตรวจเลือดหาการติดเชื้อ
• บุคคลทั่วไป ซักประวัติ อาการที่เข้ากันได้กับวัณโรค ตรวจร่างกายและเอกซเรย์ทรวงอก
ทำอย่างไรให้ห่างไกลวัณโรค
• ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค
- ตรวจคัดกรองวัณโรคอย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน เป็นเวลา 2 ปี หลังจากนั้นตรวจประจำทุกปี โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ แม้จะไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม
• บุคคลทั่วไป
1. ตรวจเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี
2. เด็กแรกเกิดควรได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจี ป้องกันวัณโรค
• ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อสร้างภูมิต้านทาน โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ผู้คนแออัด
ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค 95% สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยต้องมีวินัยในการรับประทานยาให้ครบต่อเนื่องนาน 6 เดือน ไม่หยุดยาเองหรือขาดการรักษา ลดการทำให้เชื้อดื้อยาซึ่งยากต่อการรักษา
นัดหมายปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะทางโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ ศูนย์อายุรกรรมเฉพาะทาง โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2330