โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่ระบาดในทุกๆ ปี และตลอดปีจะระบาดมากในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้น อาการของไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน หากเกิดการติดเชื้อโรคใดโรคหนึ่งแล้วยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้มีอาการรุนแรง เกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
• ไข้สูงเฉียบพลัน มากกว่า 38 -40 0C
• หนาวสั่น หรือเหนื่อยมากขึ้น
• ไอจากหลอดลมอักเสบ เจ็บคอ มีน้ำมูก
• ปวดศีรษะ
• ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
• เด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง
อาการแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่มีอะไรบ้าง
• เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลาย
• เกิดความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด กระตุ้นการอักเสบของหลอดเลือดทำให้เส้นเลือดปริแตกได้ง่าย
• เกิดการอักเสบของหลอดลม
• เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญ
• ร่างกายขาดน้ำ
• ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม
• โรคหัวใจ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หลอดเลือดอักเสบปริแตกง่าย
• โรคปอด ทำให้โรคหอบหืดและถุงลมโป่งพองกำเริบและมีอาการรุนแรง
• โรคเบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานน้อยลง เสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
• โรคไต ไตทำงานผิดปกติ
ไข้หวัดใหญ่รักษาอย่างไร ?
ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัส โอลเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรง อาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาโดยการนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพื่อได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
โรคไข้หวัดใหญ่...ป้องกันได้อย่างไร
• ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หรือถ้าจำเป็นควรปิดปาก จมูกด้วยหน้ากากอนามัย
• ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด และอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
• หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
• ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น
• เลือกทานอาหารที่ร้อน ปรุงสุกใหม่ ควรทานอาหารแยกสำรับ หากทานร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
• ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคตับ โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และโรคหลอดเลือดสมอง
กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ เด็กเล็ก 6 เดือน – 5 ปี ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้พิการทางสมอง ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 kg. ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ติดเชื้อ HIV
บุคคลทั่วไป ลดโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อไปสู่คนในครอบครัว ลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ ลดการขาดเรียน ขาดงาน ลดการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต
ใครบ้างที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- เด็กเล็กที่ยังมีอายุยังไม่ถึง 6 เดือน
- คนที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนผลิตในไข่ไก่
- ผู้ที่เพิ่งหายจากอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันไม่เกิน 7 วัน
- ผู้ที่เพิ่งนอนพักรักษาตัวและออกจากโรงพยาบาลมาได้ไม่เกิน 14 วัน
- ผู้ที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ก่อนได้รับวัคซีน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว มีอาการกำเริบ ยังควบคุมอาการของโรคประจำตัวไม่ได้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
*** สำหรับผู้ที่มีไข้ต่ำๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูง พบอาการข้างเคียงหลังฉีดน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นเพียงอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลียและปวดบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน การประคบด้วยน้ำอุ่นและรับประทานยาแก้ปวดจะช่วยให้อาการทุเลาและหายได้รวดเร็วขึ้น
ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีหลายสายพันธุ์ ทุกปีองค์การอนามัยโลก(WHO) จะเป็นผู้ที่กำหนดสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดการณ์ว่าจะมีการระบาด โดยควรฉีดในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง
โรคไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่แค่ไข้หวัดธรรมดา อาการป่วยไข้หวัดใหญ่อาจมีความรุนแรงมากกว่าที่เราคิดส่งผลให้เด็กๆขาดเรียน ผู้ใหญ่ขาดงาน และอาจต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล หากเป็นในคนกลุ่มเสี่ยงอาจมีอาการรุนแรงมากเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การดูแลรักษาอนามัยส่วนบุคคล เช่น การล้างมือ ใช้หน้ากากอนามัยเมื่อเจ็บป่วย ร่วมกับรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปีจะช่วยลดโอกาสเจ็บป่วยและความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ได้
นัดหมายปรึกษาแพทย์ศูนย์อายุรกรรม โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2120,2138