ปัจจุบันยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวานและไม่ได้รับข้อมูลความรู้ รวมถึงการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง หากปล่อยไว้อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ไตวาย โรคเกี่ยวกับดวงตา และอาจอันตรายถึงชีวิตได้ เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบข้อมูลโรคเบาหวานจึงมีการรวมคำถามที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถดูแลสุขภาพตนเองและคนที่รักให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน รวมถึงผู้ที่ป่วยโรคนี้จะได้รับคำแนะนำเพื่อไปปรับใช้ในการดูแลตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยได้รวบรวมคำถามที่เกี่ยวกับโรคเบาหวานที่ควรรู้ ดังนี้
Q : โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้อย่างไร
A : โรคเบาหวานเกิดได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักมีทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เช่น กรรมพันธุ์ มีญาติสายตรงเป็นเบาหวาน อายุที่มากขึ้น ภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนลดน้ำตาลจากภาวะน้ำหนักเกิน ขาดการเคลื่อนไหวและออกกำลังกาย การตั้งครรภ์ก็ทำให้ดื้ออินซูลินได้ เนื่องจากมีการสร้างฮอร์โมนจากรกหลายชนิด รวมถึงการได้รับยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ นอกจากนี้อาจเกิดจากการขาดอินซูลิน เนื่องจากตับอ่อนถูกทำลายจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย, ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังหรือได้รับการผ่าตัดตับอ่อน
Q : จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเบาหวาน มีสัญญาณเตือนอะไรบ้าง
A :ในระยะแรกของโรคเบาหวานที่น้ำตาลไม่สูงมาก มักจะไม่มีอาการเตือน แต่ถ้าเป็นมาระยะหนึ่งแล้วจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น ปัสสาวะบ่อย ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 1 ครั้ง คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หิวบ่อย รับประทานจุแต่น้ำหนักลดลง อ่อนเพลีย แผลหายยาก ติดเชื้อตามผิวหนังง่าย เป็นเชื้อราหรือมีตกขาว สายตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้า อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากน้ำตาลในเลือดสูงมากที่รุนแรง เช่น ซึมลง ขาดสารน้ำ เลือดเป็นกรดได้ ส่วนรายที่เป็นมานานอาจมีสัญญาณจากภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตาจนจอประสาทตาเสื่อมหลุดลอก เส้นเลือดหัวใจตีบและอัมพาตได้
Q : โรคเบาหวานมีกี่ประเภท
A :โรคเบาหวานมีหลายประเภทมาก อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก ในปี 2019 แบ่งได้ถึง 6 ประเภท คือ
1.เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes)
2.เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes)
3.เบาหวานรูปแบบผสม (Hybrid forms of diabetes)
4.เบาหวานชนิดจำเพาะ (Other specific types)
5.เบาหวานที่ยังไม่สามารถจัดชนิดได้ (Unclassified diabetes)
6.เบาหวานที่ตรวจเจอครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ (Hyperglycemia first detected during pregnancy)
โดยโรคเบาหวานประเภทที่พบได้บ่อยคือชนิดที่ 2 มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ปริมาณไขมันเยอะ ซึ่งทำให้ดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน
Q : ทำไมคนที่อ้วนมากๆ มักจะป่วยโรคเบาหวาน
A :ผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงเมื่อมีมวลไขมันสะสมในช่องท้องมากๆจะทำให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ รวมถึงฮอร์โมนอินซูลินจะออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ทำให้น้ำตาลขึ้นสูงได้ โรคอ้วนจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
Q : ทำไมเราต้องตรวจคัดกรองเบาหวานถึงแม้ไม่มีอาการ
A :จากงานวิจัยหลายชิ้น พบว่าก่อนจะมีอาการจากเบาหวานหรือวินิจฉัยโรคเบาหวาน จริง ๆ แล้วผู้ป่วยเริ่มเป็นเบาหวานมาก่อน 5 หรือ 10 ปี หรือมากกว่านั้น ดังนั้น การตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยงจึงสำคัญมาก เพื่อให้รักษาได้ทันก่อนจะมีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ซึ่งการตรวจวินิจฉัยไม่ยากเพียงแค่เจาะเลือดเท่านั้น แต่หากยังไม่ได้เจาะเลือด ก็สามารถคิดคะแนนความเสี่ยงจากข้อมูลของคนไทยได้ตามแนวทางการคัดกรองการวินิจฉัยโรคเบาหวาน โดยแต่ละปัจจัยเสี่ยงจะให้น้ำหนักคะแนนไม่เท่ากัน ถ้ารวมคะแนนได้ตั้งแต่ 6 คะแนนขึ้นไป ก็จะถือว่ามีความเสี่ยงเกิดเบาหวานใน 12 ปีข้างหน้า ดังตารางแนวทางการคัดกรองการวินิจฉัยโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ ดังนี้
Q : โรคเบาหวานต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง
A :ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานมีทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง
แบบเฉียบพลัน จัดเป็นภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ ภาวะกรดคีโตนคั่งในเลือด จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง หายใจหอบจากเลือดเป็นกรด และภาวะออสโมลในเลือดสูงจากน้ำตาลในเลือดสูงมากและขาดสารน้ำรุนแรงจนมีอาการซึมลง ทั้ง 2 ภาวะนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพราะอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรัง ที่ผู้ป่วยต้องเฝ้าระวัง แบ่งเป็นโรคแทรกซ้อนในหลอดเลือดขนาดเล็ก ที่เราเรียกกันว่า เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไตและปลายประสาทเสื่อม สุดท้ายคือโรคแทรกซ้อนในหลอดเลือดขนาดใหญ่ ได้แก่ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ซึ่งผู้ที่เป็นเบาหวานควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะเหล่านี้ รวมถึงควรได้รับความรู้เพื่อเฝ้าระวัง สังเกตอาการของภาวะแทรกซ้อน เพื่อจะได้ป้องกันและรักษาได้ทัน
Q : ผู้ที่เป็นเบาหวานที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือภาวะน้ำตาลต่ำสังเกตได้อย่างไร และจะดูแลตัวเองอย่างไร
A :ในรายที่น้ำตาลในเลือดสูงไม่มาก อาจจะไม่มีอาการชัดเจนได้ จึงทราบได้จากผลเลือด โดยทั่วไปเป้าหมายน้ำตาลรายวันคือ 80-130 มก./ดล. และน้ำตาลสะสมไม่เกิน 7.0% แต่เป้าหมายการรักษาที่เหมาะสมแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ส่วนรายที่น้ำตาลสูงมากที่มีอาการ มักสูงเกิน 180 มก./ดล. จะเริ่มมีน้ำตาลรั่วทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยและมีอาการอื่น ๆ ที่กล่าวไปแล้วของโรคเบาหวาน ในการดูแลตัวเองจึงควรปรับอาหารให้เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพอาหาร ออกกำลังกาย ใช้ยาตามแพทย์แนะนำสม่ำเสมอและหากจำเป็นในบางรายอาจใช้เครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้วที่บ้านซึ่งจะช่วยให้ควบคุมน้ำตาลได้ดีขึ้น
อีกภาวะที่สำคัญคือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เพราะทำให้เกิดอันตรายได้มาก โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือมีโรคร่วม เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ควรทราบอาการเตือนของน้ำตาลต่ำ เช่น ใจสั่น หิว ร้อน เหงื่อออก กระสับกระส่าย สับสน ตอบสนองช้า ง่วงซึม พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง หมดสติ ชัก เป็นต้น เมื่อเจาะน้ำตาลปลายนิ้วแล้วค่าต่ำกว่าหรือเท่ากับ 70 มก./ดล. ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง ยังตื่นรู้ตัว รับประทานได้ ให้ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น น้ำแดงเฮลบลูบอย 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 แก้ว น้ำส้มคั้น 180 มล. น้ำผึ้ง 3 ช้อนชา กล้วย 1 ผล เป็นต้น หลังจากนั้นเจาะน้ำตาลซ้ำที่ 15 นาที หากค่ายังต่ำอยู่ให้ทานซ้ำอีกครั้ง หลังจากแก้ไขจนน้ำตาลดีขึ้นแล้ว สามารถทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและโปรตีนเพื่อป้องกันการเกิดน้ำตาลต่ำเกิดขึ้นได้อีก โดยมักจะเกิดในรายที่ใช้ยาลดน้ำตาลบางชนิดรวมถึงอินซูลิน ร่วมกับการใช้ยาที่ไม่สัมพันธ์กับการรับประทานอาหาร หรือขนาดยามากเกินไปซึ่งถ้าเกิดภาวะเหล่านี้ ควรแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อหาสาแหตุ แก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้อีก
Q : ผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลิน แสดงว่าเบาหวานที่เป็นถึงขั้นเป็นอันตรายกับชีวิตจริงหรือไม่
A :ไม่จริง หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าการใช้อินซูลินน่ากลัวมากเกินจริง โดยอินซูลินมีข้อบ่งชี้และมีประโยชน์มาก เช่น ในรายที่น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 300 มก./ดล. หรือน้ำตาลสะสมเกิน 11% ร่วมกับมีอาการจากน้ำตาลในเลือดสูง การใช้ยาเม็ดลดน้ำตาลอย่างเดียวจะมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการลดระดับน้ำตาลในเลือด การฉีดอินซูลินจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงตามเป้าหมายได้เร็วกว่าบางราย เมื่อคุมน้ำตาลได้ดีแล้วสามารถปรับลดหรือหยุดยาอินซูลินเหลือแต่ยาเม็ดลดน้ำตาลก็มี กรณีอื่นที่ต้องใช้อินซูลิน อาทิโรคเบาหวานชนิดที่ขาดอินซูลิน ชนิดที่ 1 โรคเบาหวานจากตับอ่อน หรือหญิงตั้งครรภ์ที่คุมอาหารแล้วยังคุมน้ำตาลไม่ได้ การใช้อินซูลินถือเป็นตัวช่วยลดน้ำตาลได้ดี และปลอดภัยกับทารกในครรภ์ เพราะฉะนั้นคำตอบนี้จึงตรงข้ามกับคำถาม หากมีข้อบ่งชี้ที่ควรใช้อินซูลินแล้วไม่ได้ใช้ต่างหากที่อาจอันตรายถึงชีวิตได้
สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด เลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ มีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดปีละครั้ง ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลสุขภาพตนเอง พบแพทย์ตามนัด เพื่อให้ประเมินสุขภาพตนเองเป็นระยะจะช่วยลดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นัดหมายปรึกษาแพทย์เฉพาะทางคลินิกเบาหวานและต่อมไร้ท่อ โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2330