โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus)
เป็นโรคที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว วัว ควาย สุกร ลิง ค่าง ชะนี ค้างคาว เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้หากได้รับเชื้อเข้าไป เชื้อไวรัสจะออกมากับน้ำลายสัตว์ที่ป่วย หรือมีเชื้อนี้ก่อนป่วย เมื่อสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด เชื้อในน้ำลายจะเข้าสู่บาดแผล หรือจากการมาข่วน ซึ่งเล็บของสัตว์เหล่านี้ มักเปื้อนน้ำลายที่สัตว์อาจเลียเล็บตัวเอง หรือแม้แต่สัตว์ที่มาเลียคน ก็อาจติดโรคได้ หากผิวหนังบริเวณที่ถูกเลียมีบาดแผลหรือรอยถลอก
ระยะฟักตัว
ตาม WHO ระยะฟักตัวประมาณ 2-3 เดือน (แต่ก็เป็นได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ – 1 ปี) ระยะเวลาการฟักตัวอาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นทางเข้าของเชื้อ เช่น ถ้าถูกสัตว์กัดบริเวณใบหน้า ระยะฟักตัวจะสั้น เนื่องจากอยู่ใกล้สมอง หรือบริเวณที่มีปลายประสาทมาก ๆ เช่น มือ
อาการโรคพิษสุนัขบ้าในคน มี 3 ระยะ ได้แก่
1. ระยะอาการนำ อาการเริ่มต้นส่วนมากไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง กังวล กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มีอาการคันบริเวณที่ถูกกัด หรือคันแขนขาข้างที่ถูกกัด อาจมีอาการชา เจ็บเสียวรอบ ๆ บริเวณที่ถูกกัด ทั้งๆ ที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว
2. ระยะอาการทางระบบประสาท จะมีอาการตึง แน่นในลำคอ กลืนอาหารแข็งได้ แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เวลาดื่มน้ำจะสำลักและเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อในลำคอกระตุกเกร็ง มีอาการสะดุ้งผวาเกร็ง ต่อการสัมผัสต่างๆ ไม่ชอบแสงสว่าง คลุ้มคลั่งประสาทหลอน อาละวาด อาจมีอาการกลัวน้ำ กลัวลมได้ หากรุนแรงอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาตได้
3. ระยะสุดท้าย ถึงแม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษา แต่หากได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้วไม่มียารักษาโดยตรง ผู้ป่วยเสียชีวิตเกือบทุกราย ผู้ป่วยจะมีชีวิตไม่เกิน 7 วันหลังจากเริ่มมีอาการนำ และไม่เกิน 3 วันหลังมีอาการทางระบบประสาท ระบบหายใจ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด
เมื่อถูกสุนัขกัดสิ่งที่คุณต้องทำคือ
1. รีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่หลายๆ ครั้ง พยายามล้างให้เข้าถึงก้นแผล อย่างน้อย 15 นาที
2. ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น Povidone Iodine หากไม่มีใช้ แอลกอฮอล์เช็ดรอบๆแผลได้
3. ถ้าแผลฉกรรจ์ ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อล้างน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก เพราะหากเย็บแผลโอกาสติดเชื้อจะสูงมากควรรีบไปฉีดวัดซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที โดยทั่วไปฉีดประมาณ 4 -5 ครั้งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ (ในกรณีที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อน) ในช่วง 28-30 วันต้องฉีดวัดซีนทุกรายหากมีแผลถูกกัด ส่วนจำนวนเข็มในการฉีดขึ้นอยู่กับการได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาก่อนหรือไม่ ยกเว้นในกรณีที่ถูกสุนัขเลียผิวหนังที่ปกติเท่านั้น (โดนข่วน, งับ, โดนเลียผิวหนังที่เป็นแผล หรือมีรอยถลอก ก็ต้องฉีดวัคซีน)
4. ถ้าสามารถเฝ้าดูอาการสัตว์ (กรณีที่มีเจ้าของ หรือทราบตัวเจ้าของ) ควรกักขังและเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 10 วัน
บทสรุป
การนำสัตว์เลี้ยงไปเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเป็นประจำทุกปี เป็นการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ สำหรับคนทั่วไปที่จะฉีดวัคซีน กรณีที่โดนสัตว์กัดหรือสัมผัสน้ำลายของสัตว์ โดยมีการฉีดทั้งทางกล้ามเนื้อและทางผิวหนัง ร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักที่อาจมาพร้อมกับน้ำลายของสัตว์
นัดหมายแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำได้ที่ ศูนย์ศัลยกรรม อาคารพรีเมียม ชั้น 1 โทร.0-2117-4999 ต่อ 2140,2158