โรคเชื้อราที่เล็บคืออะไร
เชื้อราที่เล็บ (onychomycosis) สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อราของเล็บ โดยมีเชื้อราหลายสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรค เช่น กลุ่มกลาก ( Dermatophyte) กลุ่มกลากเทียม (Non- Dermatophyte) กลุ่มยีสต์ (Yeasts) โดยเฉพาะเชื้อแคนดิดา (Candida spicies) ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีความแตกต่างในการรักษาและผลในการรักษา
ลักษณะที่มีการติดเชื้อราที่เล็บ
ส่วนใหญ่ระยะแรก ยังไม่สามารถสังเกตอาการได้แต่เมื่อปล่อยไว้นานหลายปี จนเล็บมีการเปลี่ยนแปลงมากจึงมาพบแพทย์ ความผิดปกติที่เล็บนั้น ส่วนมากจะเกิดการติดเชื้อราที่เล็บเท้าได้บ่อยกว่าเล็บมือ พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่อาจมีโรคร่วมอื่น ๆ อยู่ด้วย ลักษณะที่สังเกตได้ว่ามีเชื้อราที่เล็บก็คือ เล็บเปลี่ยนสี เล็บหนาขึ้นหรือผิดรูป กดเจ็บที่เล็บ เล็บบวมแดง คันผิวหนังบริเวณเล็บ เล็บร่น แผ่นเล็บแยกตัวออกมาจากฐานเล็บ อาจเห็นเป็นโพรงหรือช่องว่างใต้เล็บ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเชื้อราที่เล็บ
1. มีโรคเรื้อรังอื่นๆ บางโรคร่วมด้วยเช่น โรคเบาหวาน , สะเก็ดเงิน
2. มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน
3. มีการบาดเจ็บบริเวณเล็บบ่อยๆ หรือมีการทำลายของผิวหนังบริเวณขอบเล็บซึ่งเป็นส่วนที่ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่เล็บ เช่น การใส่รองเท้าที่รัดแน่นไป การล้าง มือบ่อยๆ หรือการ สัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ เช่น สารเคมีต่างๆ การทำเล็บ เป็นต้น
4. การมีสุขอนามัยที่ไม่ดี ไม่รักษาความสะอาดของร่างกายและเล็บ
เมื่อมีลักษณะของเล็บที่ผิดปกติ แพทย์จะวินิจฉัยร่วมกับการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เช่น การขูดขุยจากเล็บไปตรวจหาเชื้อรา หรือการเพาะเชื้อราและจำแนกเชื้อราที่ก่อโรค ในการรักษาเชื้อราที่เล็บเป็นโรคที่สามารถรักษาได้แต่อาจใช้เวลานานในการรักษาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือนหรือนานเป็นปี
แนวทางการรักษา
1. การใช้ยารับประทาน มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง สามารถรักษาความผิดปกติของเล็บได้ทุกๆเล็บ ในการรักษาเชื้อราที่เล็บจำเป็นต้องรับประทานยาต้านเชื้อราเป็นเวลานาน โดยทั่วไปประมาณ 3-6 เดือน
2. การใช้ยาทาเฉพาะที่ มีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่เป็นสารละลาย ชนิดที่เป็นยาทาเคลือบเล็บ ซึ่งยาบางชนิดสามารถทาที่เล็บสัปดาห์ละ 1 ครั้งทำให้สะดวกในการใช้ยา การใช้ยาทาเฉพาะที่อาจต้องใช้ยาอื่นร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีเชื้อราบริเวณใกล้เคียงกับเล็บ เช่น ง่ามเท้า ฝ่าเท้า เพราะยาจะออกฤทธิ์เฉพาะเล็บที่ทายาเท่านั้น
3. ใช้วิธีอื่นในการรักษา การใช้แสงเลเซอร์รักษาเชื้อราที่เล็บ เครื่องมือทางกายภาพบางชนิดหรือการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บ การใช้ครีม/สารเคมีที่ช่วยเสริมการรักษา แม้ยังเป็นวิธีใหม่ แต่ก็มีผลการศึกษายืนยันความเป็นไปได้ให้การรักษาได้ผลดีและปลอดภัย
การดูแลตนเอง
1. ตัดเล็บให้สั้น แยกที่ตัดเล็บเฉพาะตัดเล็บที่ติดเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปที่เล็บอื่น
2. ไม่ควรใช้วิธีตัดเซาะ เลาะเล็มส่วนด้านข้างของเล็บเพราะอาจทำให้เกิดเล็บขบ ติดเชื้อแทรกซ้อนได้
3. อย่าใช้ถุงเท้า รองเท้าร่วมกับผู้อื่น และควรทำความสะอาดถุงเท้ารองเท้าให้สม่ำเสมอ
4. ไม่ควรเดินเท้าเปล่าที่ห้องน้ำสาธารณะ สระว่ายน้ำ ควรหารองเท้าเฉพาะเพื่อใส่ในบริเวณนั้นๆ
5. เลือกชนิดรองเท้าที่เหมาะสม ไม่ควรรัดแน่น อับชื้น หรือเปิดปลายเท้า ต้องมีความระมัดระวังโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้สูงอายุที่มีปัญหาการมองเห็น การเคลื่อนไหวหรือมีความผิดปกติของโครงสร้างเท้าร่วมด้วย
6. หากมีการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ควรรีบรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อไปที่เล็บ
7. หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บระคายเคืองบริเวณเล็บ เช่น หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง และสารเคมีต่างๆ
บทสรุป
โรคเชื้อราที่เล็บ มีโอกาสเกิดโรคซ้ำได้รวมถึงอาการแสดงอาจมีสาเหตุมาจากโรคทางผิวหนังชนิดอื่นหรือมีโรคร่วม เช่น เบาหวาน ดังนั้นการดูแลสุขภาพมือและเท้าจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ควรใส่ใจ หากพบว่าเล็บมีความผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้การติดเชื้อเป็นแบบเรื้อรังและใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้นไปด้วย
นัดหมายปรึกษาอายุรแพทย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 1 อาคารพรีเมียม โทร 0-2117-4999 ต่อ 2120,2138