งูสวัด
เป็นโรคติดเชื้อไวรัส ชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใสในการติดเชื้อครั้งแรกจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อหายแล้วเชื้อจะหลบซ่อนในปมประสาท มักพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มเสี่ยงและผู้สูงอายุ เนื่องมาจากภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสลดลง ทำให้ติดเชื้อโรคงูสวัดได้ง่ายขึ้น
อาการของโรคงูสวัดเป็นอย่างไร ?
• มีอาการปวดแสบปวดร้อนนำมาก่อนที่ผื่นจะปรากฏ ปวดเสียวคล้ายหนามแทง ไวต่อสิ่งกระตุ้น
• มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดแสบปวดร้อนบนผิวหนังตามแนวเส้นประสาท
• มีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส ขึ้นเรียงตามแนวเส้นประสาทซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
• ในบางรายแผลที่ตกสะเก็ดและหายแล้ว ผู้ป่วยก็ยังคงรู้สึกปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนังได้
• หากมีอาการงูสวัดขึ้นบริเวณใบหน้า ขึ้นตา ควรรีบพบจักษุแพทย์โดยตรง
• หากมีอาการงูสวัดบริเวณใบหู อาจมีอาการปวดหู การได้ยินลดลง เวียนศีรษะ หน้าเบี้ยวครึ่งซีก ควรรีบพบแพทย์
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย คือ อาการปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนังนานหลายเดือนแม้ผื่นจะหายสนิท พบการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังเกิดเป็นแผลเป็น หากขึ้นที่ตาอาจทำให้ตาบอดได้ พบปัญหาโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น
ผู้ที่มีความเสี่ยงและควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
- อายุ 50 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยโรค SLE (โรคพุ่มพวง)
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
- ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน
- ผู้ที่ติดเชื้อ HIV
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคตับ
การดูแลรักษา
- ให้ยาต้านไวรัสโดยเร็วภายใน 72 ชั่วโมงแรกที่เกิดผื่นผิวหนัง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้
- ดูแลผิวหนังบริเวณรอยโรคให้สะอาด หลีกเลี่ยงการเกาเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย
การป้องกันการแพร่กระจายของโรคงูสวัด
- การสัมผัสตุ่มน้ำหรือแผลของผู้ป่วยงูสวัดอาจทำให้ผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสได้ ดังนั้น ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดตัว ที่นอนของผู้ป่วยโรคงูสวัดกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
- ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจาย สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ดังนั้น ควรแยกผู้ป่วย ไม่ใกล้ชิดกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรค เด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์
การป้องกัน
- จัดการความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาสุขอนามัย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการของโรคงูสวัด ในกรณีที่ยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส อาจทำให้ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งปัจจุบัน มี 2 ชนิด ได้แก่
วัคซีนป้องกันงูสวัด ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ Zoster vaccine live (ZVL) วัคซีนนี้ฉีดได้ในผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 เข็ม (0.65 mL) ช่วยลดการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 51 และจะได้ประโยชน์สูงสุดในผู้ที่ได้รับวัคซีนในช่วงอายุ 60 - 69 ปี และหากผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันติดเชื้องูสวัดซ้ำก็สามารถป้องกันอาการปวดประสาทหลังติดเชื้อ (post herpetic neuralgia ,PHN) ได้ 66.5% เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ จึงห้ามฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เช่น กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV วัคซีนป้องกันงูสวัด ชนิดซับยูนิตวัคซีน Recombinant zoster vaccine (RZV) เป็นวัคซีนที่ทำจากโปรตีนของเชื้อ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทั้งหมด 2 เข็ม (เข็มละ 0.5 mL) ห่างกัน 2 – 6 เดือน กลุ่มที่แนะนำให้รับวัคซีน ได้แก่- ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดและอาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัดในคนกลุ่มนี้ได้มากกว่าร้อยละ 90
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดหรือผู้ที่ปลูกถ่ายไข กระดูกหรือปลูกถ่ายอวัยวะ สามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัดในคนกลุ่มนี้ได้ร้อยละ 68-91
ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงประวัติการเป็นงูสวัดหรืออีสุกอีใสมาก่อน หลังจากได้รับวัคซีนครบตามจำนวนที่แนะนำแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันจึงจะขึ้นเต็มที่ และภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้นานถึง 10 ปี ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดเข็มกระตุ้นของวัคซีนงูสวัดทั้ง 2 ชนิดคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีนงูสวัด
1. อาการข้างเคียงที่อาจพบได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด?
- อาการข้างเคียงที่พบได้หลังวัคซีน คือ มีอาการปวด แดง หรือบวมในบริเวณที่ฉีดวัคซีน หรืออาจมีไข้ต่ำๆ ซึ่งอาการจะดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน
2. ผู้ที่พึ่งหายป่วยจากโรคงูสวัด สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้เมื่อไหร่
- ผู้ที่พึ่งหายจากโรคงูสวัด สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดได้ โดยให้เว้นระยะห่างหลังจากเป็นโรคงูสวัดอย่างน้อย 6 เดือน ครบทั้ง 2 เข็มตามคำแนะนำ
3. หากเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ Zoster vaccine live (ZVL) สามารถรับวัคซีนชนิดซับยูนิตวัคซีน Recombinant zoster vaccine (RZV) ได้หรือไม่ เว้นระยะห่างจากวัคซีนชนิดเดิมนานแค่ไหน
- สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิดซับยูนิตวัคซีน Recombinant zoster vaccine (RZV) โดยเว้นระยะห่างจากวัคซีนชนิดเดิมอย่างน้อย 2 เดือน
4. สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นได้หรือไม่?
- ท่านสามารถรับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดร่วมกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบและไอพีดีได้ในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ การรับวัคซีนทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เนื่องจากแต่ละบุคคลมีสภาวะสุขภาพ โรคประจำตัวและข้อห้ามที่แตกต่างกัน
บทสรุป
โรคงูสวัด เป็นโรคที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ การป้องกันโดยฉีดจึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรค ลดความรุนแรง ลดความเจ็บปวดและโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคงูสวัดควรดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
นัดหมายปรึกษาแพทย์ ศูนย์อายุรกรรม โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2120,2138