ภาวะไส้เลื่อน คืออะไร เกิดกับใครได้บ้าง
ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่อวัยวะภายในช่องท้อง เช่น ลำไส้ หรือ แผ่นไขมันในช่องท้องเกิดการเคลื่อนที่ออกจากในช่องท้องโดยยื่นออกไปอยู่ในตำแหน่งอื่นๆ ที่ผิดตำแหน่ง อาจจะยื่นออกจากผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องที่อ่อนแอ หรือเคลื่อนที่ผ่านรูเปิดที่ผิดปกติ ทำให้สังเกตเห็นเป็นก้อนยื่นออกมา สามารถพบไส้เลื่อนได้กับทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงานและกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งพบได้มากที่สุด
• กลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด เช่น ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบที่พบในเด็ก เกิดจากขณะที่เป็นตัวอ่อน อัณฑะจะอยู่ในช่องท้อง เมื่อมีการพัฒนาการเจริญเติบโตขึ้น อัณฑะจะเคลื่อนที่ผ่านรูเปิดบริเวณขาหนีบมาอยู่ในถุงอัณฑะ โดยธรรมชาติรูเปิดนี้จะปิดไปได้เอง แต่ในกรณีที่ไม่ปิดทำให้มีช่องอวัยวะ ลำไส้ก็จะสามารถเคลื่อนที่ผ่านรูเปิดนี้ได้จนทำให้เกิดเป็นไส้เลื่อน หรือ กรณีไส้เลื่อนบริเวณสะดือในเด็ก ก็เกิดจากที่ผนังหน้าท้องปิดไม่สนิท
• กลุ่มที่เกิดขึ้นภายหลัง สาเหตุเกิดมาจากผนังหน้าท้องที่ส่วนล่างอ่อนแรงลง เช่น ในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน หรือ เคยได้รับการผ่าตัดมาก่อน กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะอ่อนแอลง และยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการของไส้เลื่อนเป็นมากขึ้นได้
ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดไส้เลื่อน คือ ภาวะที่เพิ่มความดันในช่องท้องเป็นเวลานานๆ ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเพศชาย มักพบปัญหาต่อมลูกหมากโต ทำให้เบ่งปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งเป็นเวลานานๆ ผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังต้องเบ่งถ่าย ยกของหนักๆเป็นประจำ หรือ ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองหรือสูบบุหรี่ที่มีอาการไอเรื้อรัง สาเหตุพวกนี้เป็นปัจจัยเสริมทำให้โรคไส้เลื่อนเป็นมากขึ้น
ปัจจุบันมีการรักษาไส้เลื่อนมีแบบไหนบ้าง ?
ปัจจุบัน การผ่าตัด ถือเป็นวิธีรักษาหลักวิธีเดียวที่ได้ผลลัพธ์และมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ วิธีผ่าตัดผ่านหน้าท้อง และวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง
ส่วนอีกวิธี คือ ใช้วิธีการสังเกตติดตามอาการ ยังไม่แนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้ เหมาะกับคนไข้ที่ไม่มีอาการเลยหรือไส้เลื่อนมีขนาดเล็กมากๆ จากงานวิจัยเมื่อมีการติดตามศึกษา คนไข้กลุ่มนี้ไป 4-5 ปี ไส้เลื่อนจากที่ไม่มีอาการได้พัฒนาไปสู่ภาวะที่ไส้เลื่อนไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ ซึ่งก็ต้องกลับมารักษาด้วยวิธีผ่าตัด จึงแนะนำให้ผู้ป่วยสังเกตอาการ หากมีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น เริ่มมีอาการปวด ก้อนมีขนาดใหญ่มากขึ้นหรือดันกลับไม่ได้ ควรมาพบแพทย์
การผ่าตัดผ่านหน้าท้อง กับการผ่าตัดผ่านกล้อง ต่างกันอย่างไร ?
การผ่าตัดผ่านหน้าท้อง เป็นวิธีการลงแผลผ่าตัดผ่านชั้นผิวหนังลงไปชั้นกล้ามเนื้อ ดึงอวัยวะที่ยื่นออกไปกลับเข้ามาและเย็บซ่อมบริเวณผนังหน้าท้องโดยการวางตาข่ายสังเคราะห์ลงไป เพื่อให้เกิดพังผืดในตำแหน่งของไส้เลื่อน วิธีนี้ก็จะมีแผลผ่าตัดบริเวณเหนือหัวหน่าวประมาณ 10 เซนติเมตร แผลจะอยู่บริเวณขาหนีบ ข้อดี คือ วิธีนี้เราจะใช้วิธีการระงับความเจ็บปวดด้วยวิธีบล็อกหลัง คือ การใช้ยาชาผ่านทางไขสันหลังหรือการฉีดยาชาเฉพาะที่
การผ่าตัดผ่านกล้องมีวิธีย่อย 2 วิธี คือทำผ่านในท้อง หรือ ทำนอกช่องท้อง วิธีนี้เราจะลงแผลเจาะขนาดเล็ก 0.5-1 เซนติเมตร เข้าไปซ่อมผนังหน้าท้องจากด้านใน และเสริมความแข็งแรงของผนังด้วยแผ่นตาข่าย ข้อดีของวิธีนี้ คือ แผลผ่าตัดก็จะมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่าวิธีแรก
การเลือกผ่าตัดรักษาแต่ละแบบ ศัลยแพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยหลักๆ 2 ปัจจัย ได้แก่ ความแข็งแรงของผู้ป่วย และความรุนแรงของตัวไส้เลื่อนเอง กรณีที่ผู้ป่วยแข็งแรงดีสามารถดมยาสลบได้ สามารถเลือกการรักษาได้ทั้งการผ่าตัดผ่านกล้องหรือผ่าตัดผ่านหน้าท้องได้เลย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่แข็งแรงพอที่จะดมยาสลบ หรือมีข้อห้ามในการผ่าตัดผ่านกล้อง การผ่าตัดผ่านทางหน้าท้องจะปลอดภัยกว่า
ส่วนในปัจจัยของตัวไส้เลื่อนเอง เช่น เคยผ่าตัดไส้เลื่อนมาแล้วแต่เป็นซ้ำ หรือ เป็นพร้อมกัน 2 ข้างแนะนำการผ่าตัดผ่านกล้องจะได้ประโยชน์มากกว่า
หลังผ่าตัดไปแล้วต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง ?
การผ่าตัดไส้เลื่อนอาจพบภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้ เช่น บริเวณขาหนีบมีเส้นประสาทมาเลี้ยงระหว่างการผ่าตัด หากกรณีที่เกิดการบาดเจ็บของเส้นประสาท ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการชา ปวดบริเวณหัวหน่าวได้ แต่โดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองหลังการผ่าตัด
ไส้เลื่อนหากไม่ผ่าตัด ปล่อยไว้จะเป็นอันตรายหรือไม่ ?
กรณีที่เป็นไส้เลื่อนมานาน และมีขนาดใหญ่ต้องระวัง หากไส้เลื่อนออกมานอกช่องท้องแล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจทำให้ลำไส้บริเวณที่ยื่นออกมานั้นขาดเลือดหรือเน่าได้ เป็นภาวะฉุกเฉินอันตราย มีโอกาสเสียชีวิตได้ ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขอย่างเร่งด่วน
นัดหมายปรึกษาศัลยแพทย์ ศูนย์ศัลยกรรม โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2140,2158