การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะของท่อปัสสาวะและเยื่อบุภายในกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะใช้กล้องชนิดพิเศษ เรียกว่า กล้องซิสโตสโคป (Cystoscope) ที่มีลักษณะเป็นท่อยาวมีกล้องพร้อมไฟส่องที่ปลายท่อ สอดผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะเพื่อตรวจวินิจฉัย ติดตามและรักษาโรคหรือความผิดปกติของท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ ช่วยค้นหาสาเหตุ อาการผิดปกติเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ดังนี้
• ตรวจหาสาเหตุของอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน ปัสสาวะไม่คล่อง ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออกมีอาการปวดขณะถ่ายปัสสาวะ และสาเหตุของการติดเชื้อ ในระบบทางเดินปัสสาวะ
• ตรวจและวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นการตรวจเพื่อหาตำแหน่ง ขนาด จำนวนและรูปร่างของเนื้องอก การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ เป็นมะเร็งชนิดใด และมีการลุกลามมากน้อยแค่ไหน
• วินิจฉัยโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ การรั่วของกระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะ ตรวจประเมินการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ
• วินิจฉัยเนื้องอกขนาดเล็กในกระเพาะปัสสาวะ โดยแพทย์จะสอดกล้องซิสโตสโคป (Cystoscope) เพื่อตัดเนื้องอกออกมาตรวจ
• วินิจฉัยภาวะต่อมลูกหมากโตหรือท่อปัสสาวะตีบ ช่วยให้แพทย์มองเห็นการตีบแคบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากการเบียดทับของต่อมลูกหมากที่โตขึ้น หรือการตีบของท่อปัสสาวะที่เกิดจากพังผืด
กล้องซิสโตสโคป (Cystoscope) มี 2 แบบ ดังนี้
1. กล้องซิสโตสโคป แบบอ่อน (Flexible Cystoscope) เป็นกล้องขนาดเล็ก ความหนาประมาณแท่งดินสอใช้สอดผ่านท่อปัสสาวะ เข้าไปในท่อปัสสาวะ ลำตัวกล้องมีความอ่อนตัว สามารถผ่านไปตามส่วนเว้าโค้งของท่อปัสสาวะได้ง่าย ตรงส่วนปลายกล้องสามารถขยับได้ ช่วยให้แพทย์ตรวจดูภายในกระเพาะปัสสาวะได้โดยรอบ และสามารถมองเห็นรูเปิดของท่อไตได้ด้วย
2. กล้องซิสโตสโคป แบบแข็ง (Rigid Cystoscope) เป็นกล้องที่มีขนาดสั้นและหนากว่าแบบอ่อนใช้สำหรับการสอดอุปกรณ์ต่างๆผ่านเข้าไปเพื่อให้แพทย์ตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อส่งตรวจ หรือฉีดยาเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
การเตรียมตัวก่อนการตรวจ
กรณีการส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะแบบผู้ป่วยนอก สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติก่อนมาตรวจ แต่หากต้องได้รับยาสลบ ผู้ป่วยควรงดน้ำงดอาหารประมาณ 8 ชั่วโมงก่อนตรวจ และผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการส่องกล้อง รับการตรวจปัสสาวะ และต้องถ่ายปัสสาวะที่คั่งค้างออกจนหมด
วิธีการส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
ก่อนการส่องกล้องแพทย์จะใช้เจลหล่อลื่นผสมยาชาฉีดเข้าไปที่บริเวณท่อปัสสาวะก่อนทำ จากนั้นจะทำการหล่อลื่นบริเวณกล้องด้วยเจลหล่อลื่นที่ผสมยาชาก่อนจะสอดเข้าไปทางท่อปัสสาวะและเข้าไปเรื่อยๆ ตามทางเดินปัสสาวะจนถึงกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นใช้น้ำกลั่นผ่านเข้าไปทางกล้องและเข้าในกระเพาะปัสสาวะเพื่อให้โป่งออก ระหว่างที่ทำการตรวจแพทย์จะทำการซักถามอาการและช่วยลดความกังวลขณะที่ได้รับการตรวจ น้ำกลั่นจะไปทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะขยายออกช่วยให้แพทย์เห็นภาพภายในกระเพาะปัสสาวะได้ดีขึ้น เมื่อกระเพาะปัสสาวะขยายออกเต็มที่ อาจมีความรู้สึกอยากปัสสาวะได้ แต่จะต้องรอจนกว่าการตรวจจะแล้วเสร็จ การส่องกล้องตรวจจะใช้เวลาประมาณ 15 - 20 นาที ระหว่างการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อในกระเพาะปัสสาวะออกมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยาหรือทำหัตถการอื่นๆ เพิ่มเติมได้
หลังการตรวจแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการส่องกล้อง แต่ถ้าทำการส่องกล้องเพื่อการรักษามักเลือกใช้การดมยาสลบ เช่น การขบนิ่วในท่อไต การใส่สายระบายในท่อไต การขบนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ การตัดต่อมลูกหมาก เป็นต้น หลังการส่องกล้องแล้วผู้ป่วยจะต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล
การปฏิบัติตนภายหลังการส่องกล้อง
ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และควรดื่มน้ำให้มากอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการระคายเคืองในท่อปัสสาวะ
อาการที่พบได้หลังการส่องกล้อง
• ติดเชื้อจากการส่องกล้อง เป็นภาวะที่เกิดได้น้อยมาก แต่แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการส่องกล้องเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้
• ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะมีเลือดปน ในช่วง 1-2 วัน หลังการส่องกล้อง และจะค่อยๆ หายไปได้เอง
• ปวดหน่วงๆ ในช่องท้อง ในช่วง 1-2 วันหลังการส่องกล้อง
หากมีอาการดังกล่าวนานเกิน 2 วัน หรือมีอาการปวดรุนแรง มีเลือดออกมาก ควรมาพบแพทย์
หากพบว่าตนเองมีความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ อย่านิ่งนอนใจ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินปัสสาวะตั้งแต่แรกเริ่ม เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและสามารถรักษาโรคได้ตรงจุด
นัดหมายปรึกษาศัลยแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินปัสสาวะ คลินิกศัลยกรรม โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2140