เมื่อลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

หนุ่มสาวก่อนวัย, โตก่อนวัย, เป็นสาวก่อนวัย, โรคเป็นหนุ่มก่อนวัย, ภาวะสาวก่อนวัย


            การเฝ้าติดตามพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กๆ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพ่อแม่ทุกคน แต่เมื่อสังเกตเห็นว่าลูกมีพัฒนาการทางเพศก่อนวัยอันควร อาจไม่แน่ใจว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติหรือควรปรึกษาแพทย์ การพาเด็กไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยจะช่วยให้ทราบว่าเด็กควรได้รับการรักษาหรือไม่


            การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เร็วกว่าปกติ ถือเป็นสัญญาณเสี่ยงของ “ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย” ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการร่างกาย เพราะในบางกรณีหากเด็กไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพที่ร้ายแรงหรือทำให้เด็กหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัยอันควร ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพจิตใจในอนาคต


ภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยคืออะไร

            "ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย" คือ ภาวะที่เด็กโตเร็วกว่าปกติ (Precocious Puberty) เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศมากขึ้นจากการที่รังไข่หรืออัณฑะผลิตฮอร์โมนเพศออกมาก่อนวัย ในช่วงก่อนอายุ 8 ปีในเด็กผู้หญิงและก่อนอายุ 9 ปีในเด็กผู้ชาย ส่งผลให้มีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายเร็วกว่าเกณฑ์ปกติ


สาเหตุและปัจจัยในการเกิดภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

  • กรรมพันธุ์ พ่อแม่มีประวัติเข้าสู่วัยหนุ่มสาวเร็ว อาทิ เสียงแตกเร็ว หรือมีประจำเดือนเร็ว
  • เด็กที่มีน้ำหนักมาก หรือเกินเกณฑ์จากการทานของกรอบ ทอด มัน อาหารไขมันสูง อาหารจานด่วน
  • มีความผิดปกติในสมอง อาทิ ก้อนเนื้องอก สมองเคยขาดออกซิเจน หรือเคยได้รับการฉายรังสี

ผลเสียของการเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย

  • ผลกระทบทางร่างกาย ได้แก่ การเจริญเติบโต ในระยะแรกเด็กจะสูงกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันแต่อาจจะมีภาวะตัวเตี้ยตามมาในวัยผู้ใหญ่ ในเด็กที่เป็นสาวก่อนวัย จะมีประจำเดือนเร็ว ซึ่งเด็กอาจยังไม่พร้อมในการดูแลตนเอง
  • ผลกระทบทางจิตใจ จากที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอาจทำให้เด็กรู้สึกแตกต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกัน ขาดความมั่นใจ ถูกล้อเลียน รวมถึงการถูกล่อลวงต่างๆ ได้

ลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย สังเกตอย่างไร?

ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย, เปรียบเทียบหนุ่มสาวก่อนวัย
โดยปกติเด็กหญิงจะเริ่มเป็นสาวเมื่ออายุ 8 – 13 ปี และเด็กผู้ชายจะเริ่มเป็นหนุ่มเมื่ออายุ 9 – 14 ปี

            หากพ่อแม่ผู้ปกครองพบความผิดปกติของบุตรหลานได้เร็วเพียงใดก็จะนำไปสู่กระบวนการวินิจฉัยและรักษาภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยได้อย่างทันท่วงทียิ่งขึ้น ในการวินิจฉัยเด็กที่มีภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย กุมารแพทย์จะมีขั้นตอนการดูแลรักษา ดังนี้

1) เอกซเรย์อายุกระดูก ซึ่งมักพบว่ากระดูกมีอายุมากกว่าอายุจริงของผู้ป่วย

2) ตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนในร่างกาย ส่วนใหญ่จะตรวจพบฮอร์โมนเพศในร่างกายมีระดับสูงกว่าวัย

3) การตรวจอัลตราซาวด์ สำหรับเด็กหญิง เพื่อวัดขนาดและดูลักษณะของมดลูกและรังไข่เพื่อช่วยในการวินิจฉัย

4) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI จำเป็นต้องทำในเด็กชายทุกคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเป็นหนุ่มก่อนวัยและในเด็กหญิงที่เข้าวัยสาวก่อนอายุ 6 ปีหรือมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทเพื่อหาความผิดปกติในสมองที่เป็นสาเหตุ


            ในรายที่วินิจฉัยภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย จะพิจารณาการรักษาจากความสูงสุดท้ายในวัยผู้ใหญ่ โดยใช้การคำนวณช่วงความสูงจากพันธุกรรม หรือการเข้าสู่วัยหนุ่มสาวมีผลกระทบต่อการดูแลร่างกายและจิตใจ ซึ่งยาที่ใช้รักษาจะเป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 4 สัปดาห์หรือทุก 12 สัปดาห์เพื่อชะลออายุกระดูก ผลคือทำให้มีโอกาสเพิ่มความสูงได้ตามพันธุกรรม โดยระหว่างการรักษาจะมีการประเมินติดตามพัฒนาการทางเพศ อายุกระดูกและระดับฮอร์โมนในเลือด


            การสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และติดตามการเจริญเติบโตของเด็กอย่างสม่ำเสมอว่าเหมาะสมตามวัยหรือไม่ หากพบความผิดปกติท่านสามารถโทรนัดหมายปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อในเด็กได้ โดยนำประวัติการเจริญเติบโตของเด็กและการเจ็บป่วยมาด้วย เพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยรักษาร่วมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลเด็กๆให้เติบโตได้อย่างสมวัย


            นัดหมายปรึกษากุมารแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อในเด็ก คลินิกโรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสมในเด็ก
ศูนย์กุมารเวช 24 ชั่วโมง โทร 0-2117-4999 ต่อ 2200