ไวรัสตับอักเสบซี เป็น อาร์เอนเอ ไวรัส ค้นพบในปี พ.ศ.2532 จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลก มีผู้ติดเชื้อนี้ประมาณ 170 ล้านคนทั่วโลก ในไทยพบประมาณ 1 ล้านคน
ติดต่อกันได้อย่างไร?
เกิดจากการสัมผัสเลือด หรือผลิตภัณฑ์ของเลือด หรือติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนี้ ได้แก่ กลุ่มคนที่
1. ได้รับเลือดก่อน พ.ศ.2535
2. ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
3. สักตามร่างกาย เจาะหู โดยใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาด
4. ใช้สารเสพติดทางหลอดเลือด โดยใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
5. ใช้อุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนเลือดร่วมกับผู้อื่น เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน กรรไกรตัดเล็บ
6. มีโอกาสสัมผัสเลือด หรือผลิตภัณฑ์ของเลือด เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ตำรวจ ทหาร
7. มีคู่นอนหลายคน
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบซี ดังนั้นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ?
หลังจากได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัว ประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงเริ่มมีตับอักเสบ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ส่วนน้อยประมาณร้อยละ 10-15 เท่านั้น ที่จะมีอาการของตับอักเสบเฉียบพลัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ดังนั้นผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าโรคนี้เพราะไม่มีอาการจะทราบเมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือบริจาคโลหิต
เมื่อติดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ เกิดตับอักเสบเรื้อรัง
ผู้ป่วยตับอักเสบซีเรื้อรัง มักจะไม่มีอาการ แต่จะมีภาวะการอักเสบของเซลล์ตับเกือบตลอดเวลา ทำให้ตับค่อยๆเสื่อมหน้าที่ พบว่าร้อยละ 20-30 ของผู้ป่วย จะมีภาวะตับแข็งในเวลา 20 ปี หลังจากเป็นตับแข็ง อาการจะค่อยๆทรุดลงไปเรื่อยๆ เริ่มมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะท้องมาน การติดเชื้อรุนแรง ภาวะตับวาย นอกจากนั้นยังมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ประมาณ ร้อยละ 2.4 ต่อปี
จะทราบได้อย่างไรว่าติดเชื้อนี้?
การวินิจฉัยโดยตรวจเลือดพบแอนติบอดี้ต่อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งถ้าได้ผลบวก จะตรวจยืนยันด้วยการตรวจปริมาณไวรัสและตรวจสายพันธุ์ของไวรัส
หากตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรทำอย่างไร?
ไวรัสชนิดนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้ ก่อนการรักษาแพทย์จะตรวจนับปริมาณและสายพันธุ์ของไวรัส และอาจตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อประเมินระยะของโรค
ปัจจุบันการรักษามีการใช้ยาฉีด คือ เพคอินเตอร์เฟอรอน (Peg-interferon) และยารับประทาน เช่น ไรบาไวริน (Ribavirin), โซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir)
หากตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรทำอย่างไร?
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ควรบริโภคอาหารมากเกินไป เพราะอาจเกิดโรคอ้วนมีไขมันเกาะตับ ทำให้ตับอักเสบเพิ่มขึ้นได้ อาหารเสริมหรือวิตามินต่างๆไม่มีความจำเป็น
2. งดการดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะเป็นปัจจัยที่เสริมให้เกิดภาวะตับแข็งเร็วขึ้น
3. หลีกเลี่ยงยาหรือสารเคมีที่อาจมีอันตรายต่อตับ ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อน
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ภูมิต้านทานทำงานดีขึ้น ยกเว้นมีภาวะตับแข็งรุนแรง หรือตับวาย อาจต้องปรึกษาแพทย์ในการแนะนำวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสม
5. ไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น งดบริจาคเลือด ไม่ควรใช้ของใช้ที่อาจปนเปื้อนเลือดร่วมกับผู้อื่น เช่น เข็มฉีดยา มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ แปรงสีฟัน
6. ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินการทำงานของตับเป็นระยะๆ อาจทุก 3-6 เดือน หรือบ่อยกว่านั้นตามระยะเวลาของโรคและควรตรวจคัดกรองหามะเร็งตับระยะเริ่มแรก ด้วยการตรวจค่าความเป็นมะเร็งตับ ร่วมกับอัลตร้าซาวนด์ ทุก 6 เดือน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
ไวรัสดับอักเสบซี เป็นภัยเงียบใกล้ตัว แต่หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกๆ รู้จักดูแลรักษาสุขภาพ ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ผู้ป่วยก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ และมีชีวิตได้เหมือนคนปกติ