ปัจจุบันนี้ภาวะสมองเสื่อมเป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้น เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่สำคัญ คือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) และภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular dementia) ความชุกของตัวโรคจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ เมื่ออายุ 85 ปี พบได้ถึงร้อยละ 32 นั่นคือประมาณ 1/3 ของผู้สูงอายุ 85 ปีจะประสบภาวะนี้
อาการ
ผู้ป่วยจะมีปัญหาบกพร่องทางความคิดและพฤติกรรม เช่น ความจำ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การตัดสินใจแก้ปัญหาที่ซับซ้อนรวมถึงบกพร่องด้านทิศทาง ภาษา และบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม ที่สำคัญคือมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำงานหรือประกอบกิจวัตรประจำวัน และเสื่อมถอยลงจากความสามารถเดิม
แนวทางทั่วไปในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม
ผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นภาวะเรื้อรังที่ต้องดูแลต่อเนื่อง ควรเป็นการดูแลรอบด้านโดยผู้ดูแลที่บ้านมีส่วนสำคัญมากในการดูแลผู้ป่วย
• การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย : เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคโดยเฉพาะส่วนที่กระทบกับความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน และช่วยให้ผู้ป่วยคงความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน และการเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะลดภาระแก่ครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย
การฟื้นฟูความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันในผู้ป่วยสมองเสื่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 ข้อดังนี้
1. การรู้คิด (cognitive function)
การประกอบกิจวัตรประจำวันได้นั้นต้องประกอบด้วยการรู้คิดที่จะริเริ่มการทำงานวางแผน จำรายละเอียดและลำดับขั้นตอนได้ ประมวลผลการทำงานและปัญหาเฉพาะหน้าได้ ดังนั้นการฝึกฝนการรู้คิดในผู้ป่วยสมองเสื่อม จะเน้นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบชีวิตประจำวัน ทักษะทางสังคม และพฤติกรรม ซึ่งมักได้ผลดีในผู้ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง มีหลายวิธี เช่น การทำกิจกรรมที่กระตุ้นสมองทำให้สมองได้ใช้งาน ทั้งกิจกรรมที่ทำด้วยตนเองหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การฟื้นฟูความจำ การพูดคุยกับผู้ป่วย เน้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเวลา สถานที่ บุคคล
2. ความสามารถในการใช้งานของแขนขา
ผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีกำลังกล้ามเนื้อแขนขาที่ลดลงตามวัยอยู่แล้ว ทำให้การเดินแย่ลง ดังนั้นจึงควรกระตุ้นให้มีการใช้ชีวิตกระฉับกระเฉง มีการออกกำลังกายแบบแอโรบิก การเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่นและการทรงตัว จะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงทนทานมากขึ้น ส่งผลให้สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้นด้วย
ในรายที่เป็นสมองเสื่อมระยะรุนแรง การกระตุ้นออกกำลังกายจะทำได้ยาก ผู้ป่วยมักนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานหรือนอนติดเตียง ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ข้อยึดติด ความดันต่ำ ท้องผูก อาหารไม่ย่อย แผลกดทับ ดังนั้นผู้ดูแลควรได้รับคำแนะนำในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้
• การดูแลผู้ป่วยในการทำกิจวัตรประจำวัน
- ผู้ดูแลควรร่วมทำกิจวัตรประจำวันกับผู้ป่วยอย่างมีอารมณ์สนุกสนาน
- พูดคุยกับผู้ป่วยเป็นระยะ อธิบายสั้นๆ ให้ผู้ป่วยฟัง
- พยายามให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสช่วยเหลือตนเอง หรือมีส่วนในการตัดสินใจดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวันให้มากที่สุด แต่ไม่ควรเป็นการตัดสินใจที่ยากเกินไป
- จัดรูปแบบการดูแลที่สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
• การดูแลสุขภาพทั่วไป : โรคประจำตัวต่างๆ ทั้งปัญหาทางกาย สมอง และจิตใจ รวมถึงสภาพครอบครัว สิ่งแวดล้อมของผู้ป่วย และเศรษฐานะ
• การดูแลความปลอดภัยของผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อม
ผู้ป่วยสมองเสื่อมในระยะรุนแรง จะสูญเสียการประสานงานของการเคลื่อนไหว ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการหกล้มมากขึ้น ดังนั้นจึงควรจัดสภาวะแวดล้อมของบ้านให้ปลอดภัยกับผู้ป่วย เช่น มีแสงสว่างเพียงพอ พื้นไม่ลื่น ติดตั้งราวจับ รวมถึงการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์มั่นคง
นอกจากนี้ผู้ป่วยสมองเสื่อมจะมีปัญหาเรื่องความจำ การสื่อสาร หรือด้านจิตใจได้ เช่น เห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว จึงมีความเสี่ยงที่จะหลงทางได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยยังมีอาการไม่มาก อาจให้พกกระดาษที่บอกให้ผู้ป่วยทำอะไรเมื่อหลงทาง ให้พกเบอร์โทรศัพท์ติดต่อเอาไว้ จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัย ไม่วุ่นวาย หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นการออกนอกบ้าน เช่น กุญแจบ้าน พยายามให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมทำ
การดูแลผู้ป่วยในด้านอื่นๆ รวมถึงการดูแลอาหารที่ปลอดภัยและยาตลอดจนดูแลเรื่องสารเคมีและอุปกรณ์ที่จะมีอันตรายได้ เช่น เตาไฟ มีด
• การดูแลผู้ดูแล
ผู้ดูแลมีส่วนสำคัญมาก ต้องดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดเกือบตลอดเวลา จึงอาจมีความเครียดได้ ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวจึงควรเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้ดูแล การให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยที่เหมาะสมจะเป็นการลดภาวะตึงเครียดของผู้ดูแลได้