การส่องกล้องตรวจสำไส้ใหญ่คืออะไร
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือ การตรวจหารอยโรคในลำไส้ใหญ่โดยใช้กล้องส่องลำไส้ใหญ่ (Colonoscope) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อยาวประมาณ 130-160 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 13 มิลลิเมตร ผ่านรูทวารหนักเข้าไปในสำไส้ใหญ่โดยติดกล้องโทรทัศน์ไว้ที่ปลายเครื่องมือแล้วส่งสัญญาณภาพ ทำให้มีความคมชัดและสามารถถ่ายทอดออกทางจอภาพขนาดใหญ่ทำให้รับชมได้สะดวก มีอุปกรณ์ต่อเชื่อมเพื่อบันทึกเป็นวีดีโอ หรือวีซีดีได้
วิธีนี้เป็นวิธีที่มีความไว และความจำเพาะสูงในการวินิจฉัยโรค และยังอาจใช้เป็นการรักษา เช่น ในรายที่มีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ หรือตัดติ่งเนื้อซึ่งขนาดไม่ใหญ่มากทำให้ลดความเสี่ยงที่จะนำผู้ป่วยไปผ่าตัดได้
ใคร หรือภาวะใดบ้างที่สมควรเข้ารับการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่
1. สงสัยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายเป็นเลือด, ตรวจพบเลือดในอุจจาระ
2. ภาวะซีดจากการขาดเหล็ก
3. ภาวะท้องเสียซึ่งหาสาเหตุไม่ได้
4. สงสัยภาวะสำไส้อักเสบเรื้อรัง
5. พบความผิดปกติในการตรวจสำไส้ใหญ่ เช่น การสวนแป้ง การตรวจอุจจาระ
6. ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งสำไส้ใหญ่ เช่น เคยเป็นเนื้องอก หรือติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง มีญาติเป็นมะเร็งสำไส้ใหญ่
จะต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนมาตรวจหรือไม่
ก่อนการตรวจต้องมีการเตรียมสำไส้ใหญ่ก่อน เนื่องจากถ้ามีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่จะทำให้ความแม่นยำในการวินิจฉัยรอยโรคลดลงและยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการทะลุของลำไส้ เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถดูลำไส้ใหญ่ได้ชัดเจน โดยการเตรียมลำไส้จะใช้วิธีจำกัดอาหาร ให้รับประทานยาถ่ายและการสวนอุจจาระ ทั้งนี้ก่อนการทำจะมีการอธิบายให้ผู้ป่วยทราบอย่างละเอียดโดยทั่วไปจะใช้เวลาในการเตรียมประมาณ 1-3 วัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและความรีบด่วนของผู้ป่วยแต่ละราย
การตรวจวิธีนี้ใช้เวลานานหรือไม่ ต้องนอนโรงพยาบาลไหม
การตรวจใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ยกเว้นในบางรายที่ต้องทำหัตถการ เช่นตัดติ่งเนื้องอก อาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น ในผู้ป่วยที่ร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคประจำตัว อาจจะให้เตรียมลำไส้ที่บ้านตอนเย็น วันรุ่งขึ้นมาส่องกล้องเมื่อตรวจเรียบร้อย นอนพักให้ตื่นดี ในรายที่ได้รับยานอนหลับ หลังจากนั้นต้องไม่มีปัญหาอะไร ก็กลับไปพักผ่อนที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
ยกเว้นในบางรายอาจจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายๆไป
การตรวจวิธีนี้อันตรายหรือเปล่า เจ็บหรือไม่
ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดแน่นท้อง เนื่องจากมีการเป่าลมเพื่อให้เห็นผิวลำไส้ได้ชัดเจนขึ้น ระหว่างการตรวจแพทย์จะให้ยาแก้ปวด ยานอนหลับตามแต่สมควร
สำหรับภาวะแทรกซ้อนของการตรวจ เช่น เลือดออก สำไส้ทะลุ การติดเชื้อ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตต่ำ ซึ่งพบไม่บ่อย แต่ก็อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยแพทย์จะประเมินถึงข้อบ่งชี้ ข้อห้าม รวมถึง โรคประจำตัวของผู้ป่วยก่อนที่ทำหัตถการ และเฝ้าระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระหว่างและหลังการตรวจนี้