ผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี Laparoscopic Cholecystectomyเป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาทางการแพทย์ที่นิยมและเป็นมาตรฐานในปัจจุบัน โดยอาศัยการผ่าตัดผ่านกล้องเรียกว่า “แลปพาโรสโคป” (Laparoscope) มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กตรงปลายท่อมีกล้องติดอยู่ ขณะทำการผ่าตัดแพทย์จะสอดท่อดังกล่าวผ่านรอยแผลขนาดเล็กเข้าไปยังจุดที่จะทำการรักษา โดยสามารถใส่เครื่องมือผ่าตัดผ่านกล้องทำการรักษาหรือตัดเนื้อเยื่อเพื่อนำมาวินิจฉัยได้
วิธีการผ่าตัดส่องกล้องนิ่วในถุงน้ำดี
- เจาะแผลขนาดเล็ก 3-4 ตำแหน่ง ด้วยเครื่องมือที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการเจาะหน้าท้องอย่างปลอดภัย
- สอดกล้องที่มีก้านยาวและเครื่องมือผ่านแผลลงไป โดยศัลยแพทย์จะสามารถมองเห็นถุงน้ำดีและอวัยวะต่างๆ
- ศัลยแพทย์จะทำการเลาะแยกถุงน้ำดีออกจากตับ แล้วใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผลก่อนตัดขั้วถุงน้ำดีและเลาะส่วนที่เหลือให้หลุดออก
- เมื่อตัดถุงน้ำดีแล้ว จะบรรจุใส่ถุงที่ออกแบบมาโดยเฉพาะดึงออกจากร่างกาย จากนั้นศัลยแพทย์จะสำรวจความเรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนดึงเครื่องมือและกล้องออก แล้วเย็บปิดแผล
ความแตกต่างระหว่างผ่าตัดส่องกล้องกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
ข้อจำกัดของการผ่าตัดส่องกล้อง
- ผู้ป่วยบางภาวะไม่สามารถผ่าตัดส่องกล้องได้ เช่น ผู้ที่มีโรคปอดและหัวใจขั้นรุนแรง
- ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดทางช่องท้องและมีพังผืดในท้องมากๆ
การเตรียมความพร้อมและการดูแล
ก่อนผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด ได้แก่ การเอกซเรย์ การตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบแพทย์เพื่อรับข้อมูลการผ่าตัด ควบคุมโรคประจำตัว
หลังผ่าตัด ผู้ป่วยงดน้ำงดอาหารหลังผ่าตัด 4-6 ชั่วโมง หรือรับประทานเป็นอาหารเหลว ในวันรุ่งขึ้นจะสามารถรับประทานอาหารอ่อนๆได้ สามารถกลับบ้านได้ภายใน 2-3 วัน โดยใช้ชีวิตประจำวันและรับประทานอาหารได้ปกติภายใน 7 วัน
การผ่าตัดถุงน้ำดีและนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้องเป็นนวัตกรรมการผ่าตัดแผลเล็กและเจ็บตัวน้อย ลดการติดเชื้อ คนไข้มักอยู่โรงพยาบาลเพียงระยะเวลาสั้นๆ สามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้ในเวลาไม่นาน
นัดหมายปรึกษาศัลยแพทย์เฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและท่อน้ำดี ศูนย์ศัลยกรรม โทร. 0-2117-4999 ต่อ 2140,2158