หลายๆคนอาจจะเคยมีอาการจุกแน่น ปวดท้องซึ่งถ้าเป็นเรื้อรังแล้วอย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะท่านอาจจะป่วยเป็นโรคที่ต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเช่น แผลในกระเพาะอาหาร นิ่วในทางเดินน้ำดี และที่สำคัญอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการเริ่มต้นของมะเร็งกระเพาะอาหารได้
อาการและอาการแสดงของโรคนี้มีอะไรบ้าง?
จุกแน่น ปวดท้องเรื้อรัง อิ่มง่าย ท้องอืด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซึ่งในระยะแรกอาการจะแยกไม่ได้ จากโรคกระเพาะอาหารธรรมดา ในบางรายอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนของมะเร็ง เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ จากการที่มีเลือดออกจากรอยโรค หรือมีอาเจียน แน่นท้องหลังกินอาหาร จากการที่ก้อนมะเร็งอุดกั้นทางเดินอาหาร
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ?
1.ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นประมาณ 2.8-6 เท่า ของคนทั่วไปเชื้อนี้ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญในการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นด้วย
2.ผู้ที่มีญาติพี่น้องเป็นมะเร็ง จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.5 – 3 เท่า และถ้ามีญาติหลายๆคนเป็นมะเร็ง ความเสี่ยงนี้ก็จะเพิ่มขึ้น
3.ผู้ที่รับประทานอาหารหมักดอง ของเค็ม รมควัน พบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในการเกิดมะเร็ง ในขณะที่การรับประทานผักผลไม้สดอาหารที่มีกากใย ไฟเบอร์ จะช่วยลดความเสี่ยงนี้
4.ผู้ที่สูบบุหรี่จัด สูบตั้งแต่อายุน้อยๆ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2 เท่าในการเกิดมะเร็ง
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ?
ปัจจุบันการตรวจด้วยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน หรือเรียกง่ายๆว่า การส่องกระเพาะอาหาร แล้วตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ถือว่าเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและแม่นยำที่สุด ส่วนวิธีการตรวจเช่นการกลืนแป้งเอกซเรย์นั้น ความไวและความจำเพาะไม่สูงพอ นอกจากนั้นถ้าตรวจพบรอยโรคที่น่าสงสัยจากการเอกซเรย์ ก็ต้องส่องกล้องเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และเพื่อตัดชิ้นเนื้อมาตรวจอยู่ดี
การรักษา
1.การผ่าตัด ถือว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารให้หายขาด แต่อาจมีข้อจำกัด คือ ผู้ป่วยจำนวนมากตรวจพบเมื่อมีระยะของโรคเกินกว่าจะผ่าตัดได้
2.การรักษาอื่นๆ เช่น การให้เคมีบำบัด การฉายแสงในผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์เป็นรายๆไป
ผลการรักษามะเร็งกระเพาะอาหารนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค และสภาพของผู้ป่วยเมื่อทำการรักษา ดังนั้นการตรวจวินิจและรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรกๆ จึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมาน และการเสียชีวิตจากโรคร้ายนี้ได้
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
1.รับประทานผัก ผลไม้สด อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ธัญพืช โฮลวีต
2.หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง ของเค็ม อาหารรมควัน
3.งดสูบบุหรี่
4.ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ในผู้ที่มีอาการปวดท้องเรื้อรังมานานกว่า 4 สัปดาห์ โดยเฉพาะในกลุ่มเหล่านี้ อายุมากกว่า 40 ปี ปวดมากจนต้องตื่นขึ้นมา น้ำหนักลด ภาวะซีด มีเลือดออกจากทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด อาเจียนสีดำ หรือเป็นเลือด อาการอาเจียนที่เป็นตลอดเวลา กลืนลำบาก คลำก้อนได้ในท้อง มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง