ภาวะปวดประจำเดือนเป็นอาการปวดท้องน้อยที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน ภาวะดังกล่าวเป็นอาการที่พบบ่อยซึ่งนำผู้ป่วยมาพบแพทย์รวมทั้งยังรบกวนการดำรงชีวิตและส่งผลต่อสภาวะจิตใจและอารมณ์ มักมีคำถามเกิดขึ้นตามมา ได้แก่
ลักษณะอาการปวดแบบใดเป็นภาวะปกติขณะมีประจำเดือน?
ภาวะปวดประจำเดือนเป็นอาการแสดงของโรคหรือไม่?
ภาวะปวดเช่นใดที่บ่งบอกว่าเป็นภาวะผิดปกติจำเป็นต้องไปรับการตรวจ?
สามารถบรรเทาอาการปวดได้อย่างไร?
ภาวะปวดประจำเดือนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary dysmrnorrhea) เป็นอาการปวดท้องน้อยที่ไม่รุนแรง โดยที่ตรวจไม่พบพยาธิสภาพ เกิดจากมดลูกหดเกร็งขณะมีประจำเดือน มักเริ่มมีอาการปวดตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก มักปวด 1- 2 วันแรกของการมีประจำเดือน สามารถบรรเทาโดยการรับประทานยาแก้วปวดอักเสบ
2. ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) เป็นอาการปวดที่รุนแรงขึ้น ร่วมกับตรวจพบพยาธิสภาพที่เป็นสาเหตุ อาการปวดจะเริ่มภายหลังจากไม่เคยปวดประจำเดือนมาก่อน มีอาการปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดอักเสบ
แนวทางการรักษาภาวะปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิสรุปได้ดังนี้
1. การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ทำให้อาการปวดดีขึ้น 90%
2. การให้ยาระงับปวด
3. การให้ยาต้านพรอสตาแกลนดินส์ (NSAID) เช่น Ponstan
ภาวะปวดประจำเดือนทุติยภูมิเกิดจากสาเหตุ อันได้แก่
1.Endometriosis
2. Adenomyosis
3. ใส่ห่วงคุมกำเนิด
4. การอักเสบในอุ้งเชิงกราน
5. ปากมดลูกตีบตัน
1.Endometriosis
เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญอยู่ตำแหน่งอื่น นอกเหนือไปจากภายในโพรงมดลูกปกติ เช่น บริเวณอุ้งเชิงกราน รังไข่ และอวัยวะอื่นๆ สาเหตุของ endometriosis เชื่อว่าเกิดจากการไหลย้อนกลับของประจำเดือนเข้าไปในช่องท้อง
พยาธิวิทยา:
พบเป็นจุดสีน้ำตาล จุดแดง จุดใสขนาดเล็กๆ มักมีเยื่อพังผืดติด กับอวัยวะข้างเคียง ในรายที่เป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ภายในมีของเหลวข้นสีช็อกโกแล็ต
อาการ:
• ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ
• เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
• ภาวะมีบุตรยากเนื่องจากท่อนำไข่อุดตันจากการมีพังผืด
• ไม่มีอาการ( พบส่วนน้อย)
การวินิจฉัย
1. อาการและการตรวจร่างกาย พบมดลูกคว่ำหลังและติดแน่น, พังผืดบริเวณอุ้งเชิงกราน
2. ส่องกล้องในอุ้งเชิงกราน (Iaparoscopy) ทำให้เห็นพยาธิสภาพทั้งยังสามารถตัดเนื้อเยื่อส่งตรวจ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานและแน่นอนที่สุด
3. การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง มีประโยชน์ในกรณีที่เป็นถุงน้ำ
แนวทางการรักษา ได้แก่
1. การเฝ้าสังเกตอาการ ให้ยาแก้ปวดหากมีอาการปวดประจำเดือน
2. การใช้ยา เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฉีด, progestin, androgen (danazol), GnRH-analoques
3. การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อการวินิจฉัย และรักษาโดยขจัดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ออก( laparoscopic cystectomy)หรือผ่าตัดทำลายเส้นประสาทที่นำความรู้สึกปวด (Laparoscopic uterine nerve ablation) หรือการจี้ทำลายพยาธิสภาพด้วยไฟฟ้า (Laparoscopic electrical cauterization)
2. Adenomyosis เป็นชนิดหนึ่งของ
Endometriosis โดยเป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกแทรกอยู่ระหว่างกล้ามเนื้อมดลูก
อาการ:
ปวดประจำเดือนมากบริเวณเหนือหัวหน่าว
การวินิจฉัย:
เช่นเดียวกับภาวะ Endometriosis อาจตรวจพบร่วมกัน โดยทั่วไปมักพบภาวะมดลูกโตทั่วๆทั้งก้อน จากการตรวจภายในและ/ หรือการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
แนวทางการรักษา:
เช่นเดียวกับภาวะ Endometriosis
3.ใส่ห่วงคุมกำเนิด
ทำให้ปวดประจำเดือนมากขึ้นเนื่องจากกลไกการคุมกำเนิดของห่วงคุมกำเนิดทำให้เกิดการอักเสบในโพรงมดลูก มักเป็นในช่วง 3 เดือนแรกสามารถบรรเทาอาการปวดได้โดยใช้ยาต้านพรอสตาแกลนดินส์
4.การอักเสบในอุ้งเชิงกราน
จะมีอาการปวดร่วมกับตกขาวคล้ายหนอง อาจมีไข้ร่วมด้วย
5.ปากมดลูกตีบตัน
ทำให้มีการคั่งของประจำเดือนในโพรงมดลูก ถ้าเป็นมากอาจไหลเข้าไปในอุ้งเชิงกรานได้
แม้ว่าภาวะปวดประจำเดือนโดยทั่วไปจะเป็นภาวะปกติที่เกิดจากการหดเกร็งของมดลูก แต่หากมีอาการรุนแรงหรือทวีความปวดขึ้นเรื่อยๆ อาการดังกล่าวอาจจะเป็นอาการแสดงของพยาธิสภาพจึงจำเป็นต้องมารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขรวมทั้งป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดตามมา