บางคนอาจได้ยินมาว่าการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่นั้นยุ่งยากและน่ากลัวมาก โดยเฉพาะขั้นตอนของการกินยาระบายเพื่อล้างลำไส้ใหญ่ให้สะอาด ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด
โดยปกติแล้วลำไส้ใหญ่นั้นสกปรกมากเนื่องจากมีอุจจาระอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าเรามักจะมีการขับถ่ายอุจจาระอยู่ทุกวันก็ตามลำไส้ก็ยังไม่สะอาดเพียงพอ คล้ายกับท่อระบายน้ำที่เต็มไปด้วยขยะ ด้วยเหตุนี้จึงต้องล้างลำไส้ใหญ่ให้สะอาดก่อนแพทย์จึงจะสามารถส่องกล้องตรวจวินิจฉัยได้อย่างละเอียดชัดเจน
สถาบันวิจัยมะเร็งแห่งชาติ ได้รายงานว่า คนไทยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น ในปี 2552 ได้รายงานสถิติผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ พบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเพศชายและเป็นอันดับ 3 ในเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงของการเกิดติ่งเนื้องอกขึ้นในลำไส้ใหญ่แล้วกลายเป็นมะเร็งในที่สุด โดยอาจจะยังไม่ได้เกิดความผิดปกติของการขับถ่ายอุจจาระ หรือไม่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวก็ได้
การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยวิธีส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่สามารถวินิจฉัยและช่วยตัดติ่งเนื้องอกเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ด้วยโดยไม่ต้องผ่าตัด จึงไม่มีอาการเจ็บปวดบาดแผลเหมือนการผ่าตัด สามารถทำกิจวัตรต่างๆได้ทันทีหลังการส่องกล้องเสร็จ
ขั้นตอนในการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ มีดังต่อไปนี้
1. ผู้ป่วยต้องงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม หลังเที่ยงคืน
2. เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะมีห้องพักพร้อมห้องน้ำสำหรับการเตรียมลำไส้ใหญ่
3. ผู้ป่วยต้องรับประทานยาระบายผสมน้ำ 2-3 ลิตรภายในระยะเวลา 3 – 4 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันนี้ยาระบายมีรสชาติดีขึ้นมากผู้ป่วยจึงรับประทานได้โดยง่าย ผู้ป่วยจะมีอุจจาระอย่างน้อย 5 ครั้ง โดยไม่ได้มีอาการอ่อนเพลียมากมาย เพราะน้ำที่ขับถ่ายออกมาก็คือน้ำที่รับประทานเข้าไปเป็นส่วนใหญ่ ร่างกายจึงเสียน้ำเองไม่มาก ซึ่งจะไม่เหมือนการเสียน้ำจากการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้จะมีการให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือดก่อนไปส่องกล้องอีกด้วย จึงช่วยให้ไม่อ่อนเพลียมากอย่างที่คิด
4. หลังจากรับประทานยาระบายหมดแล้ว เจ้าหน้าที่จะช่วยสวนล้างทางทวารหนักเพื่อล้างอุจจาระที่ยังตกค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่ส่วนปลายให้สะอาดยิ่งขึ้น
5.พยาบาลจะฉีดยานอนหลับและยาระงับความเจ็บปวด จึงช่วยลดอาการอึดอัดในขณะส่องกล้องได้เป็นอย่างดี เมื่อผู้ป่วยหลับแล้ว แพทย์จะสอดสายกล้องขนาดประมาณนิ้วชี้เข้าไปทางทวารหนัก ผ่านเข้าไปทางลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จนถึงบริเวณไส้ติ่ง ไปสิ้นสุดที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ซึ่งใช้เวลาการตรวจทั้งสิ้นประมาณ 30 นาที
6. ผู้ป่วยจะหลับจากฤทธิ์ยานอนหลับนานประมาณ 1-2 ชั่วโมงเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วก็สามารถรับประทานอาหารได้และทราบผลการตรวจเบื้องต้น ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังเสร็จสิ้นการส่องกล้องแล้ว