ไขมัน เป็นหนึ่งใน 5 หมู่อาหารหลักของไทย มีความสำคัญต่อการดำรงชีพเพราะเป็นแหล่งพลังงาน เป็นส่วนหนึ่งของผนังเซลล์ต่างๆ การสร้างวิตามินดีและฮอร์โมนต่างๆ รวมทั้งการขนส่งวิตามินที่ละลายในไขมัน อาทิ วิตามิน เอ ดี อี เค ดังนั้นไขมันจำเป็นต้องได้รับทุกวัน แต่ต้องมีปริมาณที่พอดี เพราะหากได้รับมากเกินไปหรือน้อยเกินไป จะเกิดโทษและโรคต่างๆ
ไขมันในเลือดที่มีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ คอเลสเตอรอล( Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) คอเลสเตอรอล มาจากสองทางด้วยกัน คือ
อาหาร คอเลสเตอรอล มีอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น ปลาหมึกไข่ ไข่แดง ฯลฯ
ร่างกายยังสามารถสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นได้เองจากไขมันที่เรารับประทานเข้าไป เช่น ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ (เช่น เนยเทียม มาการีน ฯลฯ) จะเป็นอาหารที่ทำให้ไขมันในเลือดสูง
ไตรกลีเซอไรด์มาจากอาหารที่รับประทานและจากการสร้างขึ้นเองในร่างกายเช่นเดียวกัน อาหารที่ทำให้ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ได้แก่ อาหารมันๆ อาหารประเภทแป้งและน้ำตาลในปริมาณมากๆรวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การตรวจไขมันในเลือด จะต้องงดอาหารก่อนเจาะเลือด 12 ชั่วโมง(ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ)
ถ้าเกิดมีภาวะไขมันคอเลสเตอรอลสูง ไม่ควรรับประทานคอเลสเตอรอลเกินกว่าวันละ 200 มก. ควรปรึกษาแพทย์ โภชนากร พยาบาล ในเรื่องอาหารและข้อแนะนำเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การตรวจโลหิตวัดระดับไขมันควรทำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา