มะเร็งปอด เป็นโรคที่พบมากและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้น ทั้งเพศชายและเพศหญิง มะเร็งปอดเป็นโรคที่สามารถรักษาได้ แต่ได้ผลไม่ดีเท่ากับมะเร็งชนิดอื่นเพราะในระยะแรกของมะเร็งปอด มีอาการปรากฏไม่ชัดเจน ดังนั้นคนที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่มักมีอาการที่โรคลุกลามแล้ว เมื่อแพทย์ตรวจพบก็มักอยู่ในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว การรักษาให้หายขาดจึงมีโอกาสน้อย
มะเร็งปอดส่วนใหญ่เกือบ 90% มีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยมักมีประวัติสูบุหรี่จัดหรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ การตรวจพบมะเร็งปอดตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและลดปัจจัยเสี่ยง เช่นการสูบบุหรี่ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดการเสี่ยงในการเกิดโรค และทำให้การรักษาโรคได้ผลดี
ชนิดของมะเร็งปอด
1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) พบประมาณร้อยละ 15 ของมะเร็งปอดทั้งหมด เป็นชนิดมะเร็งที่แพร่กระจายเร็ว มะเร็งชนิดนี้อาจสร้างสร้างสารเคมีบางอย่างที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติของต่อมไร้ท่อ (ต่อมฮอร์โมน) ในร่างกายได้ด้วย
2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) พบมากประมาณร้อยละ 85 ของมะเร็งปอดทั้งหมด มักมีการดำเนินโรคที่ช้ากว่า ทำให้มีการตรวจพบในระยะเริ่มต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก
อาการของมะเร็งปอด
อาการไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีเสมหะ ไอเป็นเลือด เสียงแหบ
หอบเหนื่อย มีปัญหาการหายใจ เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ หายใจมีเสียงหวีด
เหนื่อยง่าย หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
การการเบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
หน้าหรือแขนบวม มีตุ่มหรือก้อนขึ้นตามตัว มีอาการเจ็บหัวไหล่ ปวดกระดูก
ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งปอด
บุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 30 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบ
สารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ สารแอสเบสตอสหรือแร่ใยหิน ซึ่งใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์และฉนวนกันความร้อน นอกจากจะทำให้เกิดมะเร็งของเยื่อหุ้มปอดแล้วยังทำให้เกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่ร่วมด้วย สารอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด ได้แก่ สารหนู นิกเกิล โครเมียมและมลภาวะในอากาศ
รังสี รังสีเรดอนที่ปนเปื้อนในดิน น้ำและสิ่งแวดล้อมอาจมีผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้
โรคปอด ผู้ที่มีรอยโรคที่ปอด เช่น วัณโรค หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง มีโอกาสเกิดมะเร็งสูงกว่าคนทั่วไป
ปัจจัยอื่นๆ อายุที่มากขึ้น โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด การใช้สารเสพติดบางประเภท ภาวะขาดวิตามินเอ เป็นต้น
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติข้างต้นควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการตรวจคัดกรองด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะช่วยวินิจฉัยการเกิดมะเร็งปอดได้ตั้งแต่แรกเริ่ม ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ลดความทรมานจากโรคและการรักษา