มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ใน
ผู้หญิงไทย พบได้ 1 ใน 10 ของผู้หญิง มะเร็งเต้านมนั้นสามารถ
พบได้ในผู้ชายเช่นกัน แต่พบในอัตราที่น้อยมาก
การดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง และการค้นพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมีขนาด เล็ก ก้อนมะเร็งยังอยู่เฉพาะที่เต้านม ยังไม่แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะมีโอกาสหายขาดมากขึ้น
ชนิดของมะเร็งเต้านม
1. มะเร็งเต้านมชนิดลุกลาม (Invasive Cancer) พบบ่อยที่สุด
มากกว่า 90% ของมะเร็งเต้านมในประเทศไทยเป็นชนิดนี้ มะเร็งชนิดลุกลาม ยังแบ่งเป็นหลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือ Invasive Ductal Carcinoma และอันดับสอง คือ Invasive Lobular Carcinoma และ Medullary Carcinoma ตามลำดับ มะเร็งกลุ่มนี้มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองได้บ่อย จึงต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย อาการของมะเร็งชนิดนี้มักตรวจพบได้ด้วยการคลำเจอก้อนที่เต้านม หรือ มีเลือดออกผิดปกติทางหัวนม หรือพบจากการทำแมมโมแกรม
2. มะเร็งเต้านม ชนิดที่อยู่เฉพาะที่ (carcinoma in situ) ชนิด
ที่พบบ่อยที่สุด คือ DCIS (ductal carcinoma in situ) เรียกกันว่า ดี ซี ไอ เอส คำว่า in situ แปลว่า อยู่เฉพาะที่ แต่ก่อนพบน้อย แต่ปัจจุบันพบบ่อยขึ้น เนื่องจาก การตรวจสุขภาพ ด้วยแมมโมแกรม มะเร็งชนิดนี้ผลการรักษาดีมาก หายมากกว่า 95% กระจายไปต่อมน้ำเหลืองน้อย จึงไม่ต้องผ่าตัดต่อมน้ำเหลือง
มะเร็งเต้านม อาจแบ่งตามระยะได้ 3 กลุ่ม
1. มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น (Early breast cancer) ก้อนมักมีขนาดเล็ก อาจคลำพบได้ด้วยตัวเอง หรือพบจากการตรวจแมมโมแกรม การรักษามักเริ่มด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก
2. มะเร็งเต้านมระยะลุกลามเฉพาะที่ (Locally advanced breast cancer) ระยะนี้ ก้อนที่เต้านมมักมีขนาดใหญ่ หรือคลำได้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แต่ยังไม่พบว่ามีการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ การรักษามักเริ่มต้นด้วยการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อลดขนาดก้อนให้เล็กลงก่อน แล้วจึงตามด้วยการผ่าตัด เพื่อให้ผ่าตัดได้ง่าย และมีโอกาสหายขาดมากขึ้น
3. มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (Metastatic breast cancer) ผู้ป่วยระยะนี้จะมีโรคกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ และการรักษามักรักษาด้วยยาเคมีบำบัดเป็นหลัก การรักษาในระยะนี้แม้ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ แต่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น