เป็นวิธีการตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อ โดยรวมที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย ถูกนำมาใช้บ่อยในการตรวจหาความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด ที่ตรวจไม่พบในขณะที่ร่างกายหยุดพัก หรือไม่ได้ออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งจะทดสอบได้ว่าเมื่อมีการออกกำลังกายหัวใจจะมีความต้องการในการใช้ออกซิเจนจากเลือดเพิ่มมากขึ้น จะเกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดขึ้นหรือไม่ หากผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตันอยู่ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอจะมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไป บางรายจะเกิดอาการเจ็บจุกหน้าอก และอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็นหัวใจ
ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน
- เพื่อการวินิจฉัย เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก เราทดสอบหัวใจโดยการวิ่งเพื่อตรวจคัดกรองว่ามี เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ หรือไม่
- เพื่อประเมินความรุนแรง/ความเสี่ยง หรือพยากรณ์โรคของผู้ป่วย ที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบ
- ประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- การตรวจเพื่อประเมินโรคหัวใจก่อนผ่าตัด
- ตรวจหาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากการออกกำลังกาย
การเตรียมตัวก่อนวิ่งสายพาน
- เตรียมชุดสำหรับไปวิ่งออกกำลังกายสวมใส่สบายๆ และรองเท้าสำหรับวิ่ง
- ควรงดอาหารมื้อหนักๆก่อนทำการตรวจประมาณ 4 ชั่วโมง
- ควรงดบุหรี่ ชา กาแฟ ช็อคโกแลต น้ำอัดลม หรือยาบางชนิดที่มีคาเฟอีนผสมอยู่
- สำหรับยาที่รักษาโรคให้รับประทานปกติ นอกเสียจากแพทย์จะสั่งงด
- หากท่านเป็นโรคหอบหืดให้นำยาพ่นติดตัวมาด้วย
ขั้นตอนการตรวจหัวใจ ด้วยการวิ่งสายพาน
- เมื่อเปลี่ยนชุดแล้ว พยาบาลจะติดอุปกรณ์การตรวจบริเวณหน้าอก 10 จุด
- อุปกรณ์การตรวจที่ติดหน้าอกมีตัวส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยต่อเข้าเครื่องควบคุมและแสดงผลบนหน้าจอและกราฟ
- วัดความดันโลหิตและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพักในท่ายืน เพื่อเปรียบเทียบกับขณะออกกำลังกาย
- เจ้าหน้าที่แนะนำวิธีการเดินสายพานและการวิ่ง เมื่อท่านพร้อมแพทย์จะทำการตรวจ
- เริ่มแรกเครื่องจะเดินช้าๆ และไม่ชันมาก เมื่อเวลาผ่านไปเครื่องจะค่อยๆเร็วขึ้นและชันขึ้น เป็นระยะ
- หากมีอาการเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทราบทันที
- อย่าลงจากเครื่องในขณะที่เครื่องทำงาน เพราะอาจล้มได้
- เมื่อวิ่งได้ถึงระยะที่กำหนดกำหนด หรือผลตรวจได้ผลเป็นบวกแพทย์จะหยุดเครื่อง ซึ่งเครื่องจะลดระดับความเร็วและความชันจนกระทั่งหยุด
- แพทย์จะแปลผลจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะวิ่งให้กับผู้ตรวจทราบ