ถ้าพูดถึงโรคมะเร็งแล้ว เราก็อดหวั่นใจและไม่อยากเป็นโรคมะเร็งด้วยกันทั้งนั้น โรคมะเร็งในปัจจุบันเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรไทย และนับวันยิ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ในประเทศแถบตะวันตก อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งอาจสูงถึงร้อยละ 20 -25 ของประชากรเลยทีเดียว
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในสตรีเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก (แต่ผู้หญิงในกรุงเทพฯ เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมเป็นอันดับ 1) เพราะเกิดในผู้หญิง เรามีสิทธิ์จะเป็นมะเร็งเต้านมด้วยกันทุกคนยิ่งคนที่มีความเสี่ยงมากก็มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้น
ความจริงของมะเร็งเต้านมที่ควรรู้
ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ ในบางคนมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น
ปัจจัยทางพันธุกรรม หากมีญาติสายตรงคือ แม่ เป็นมะเร็งเต้านม ลูกสาวก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และถ้าทั้งแม่ พี่สาวหรือน้องสาวเป็นโรคนี้ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น
การกินอาหารไขมันสูง อาจเพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมสมาคมมะเร็งวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ผู้หญิงกินอาหารไขมันต่ำ เพิ่มอาหารที่มีกากใยมาก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ผู้หญิงที่ไม่มีบุตร มีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิงที่มีบุตรแล้ว และถ้ามีบุตรแล้วอายุ 30 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ที่ไม่มีบุตร
การมีประจำเดือนครั้งแรกตั้งแต่อายุน้อย เช่น อายุ 10 -11 ปี หรือผู้ที่มีประจำเดือนหมดช้า ที่ใช้ฮอร์โมนเพศ อาจทำให้โรคมะเร็งเติบโตเร็ว ถ้าจะใช้ฮอร์โมนเพศควรตรวจเต้านมก่อน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
การมีประวัติมีถุงน้ำ หรือซีสต์ (CYST) มาก่อน หรือเป็นอยู่ ไม่มีความเสี่ยงแต่ควรได้รับการตรวจจากแพทย์สม่ำเสมอให้แน่ใจว่าไม่มีก้อนใหม่ที่ไม่ใช่ถุงน้ำเกิดขึ้นภายหลัง
การเป็นโรคมะเร็งไม่เกี่ยวกับการถูกจับ ลูบคลำ หรือถูกกระแทก การเกิดเป็นผู้หญิงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ก็เพราะผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าครึ่ง ไม่มีความเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น
หากพบอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์
ก้อน ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ตรวจพบว่ามีก้อน (แต่ผู้ที่ตรวจพบก้อนที่เต้านมเพียงร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่เป็นโรคมะเร็ง)
ผิวหนังมีรอยบุ๋ม ย่น หดตัว หรือเป็นสะเก็ด
หัวนมมีการหดตัว คัน หรือมีเลือด หรือน้ำเหลือง ออกจากหัวนม (ร้อยละ 20 ของการมีเลือดออก เกิดจากโรคมะเร็ง)
คลำพบก้อนที่รักแร้ จากต่อมน้ำเหลืองโต
การดูแลตนเอง
เนื่องจากเราทุกคนอาจเป็นโรคร้ายได้โดยไม่ทันรู้ตัว จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลเต้านม การตรวจวินิจฉัยในระยะแรก และการเฝ้าระวังโรคจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่สามารถช่วยให้ปลอดภัยจากโรคได้
ตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกๆ เดือน
อายุ 30 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น ตรวจอัลตร้าซาวนด์เต้านมหรือแมมโมแกรมทุก 2 ปี
ผู้ที่มีประวัติมะเร็งในครอบครัว ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อติดตามผลบ่อยขึ้น
ผู้ป่วยบางคน เมื่อทราบว่าเป็นมะเร็ง ก็บอกว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะประจำเดือนมาปกติ กินอาหารไม่มีไขมัน มีลูกเยอะ ให้นมบุตรตั้งแต่ก่อนอายุ 30 ปี แต่ก็เป็นไปได้ เพราะเป็นผู้หญิง จึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจสม่ำเสมอ